รีวิวรถไฟฟ้ากทม.-ปริมณฑล 10 สายหลัก เหลือ ‘ส้ม’ รอลุ้นใช้บริการปี 70
ดีเดย์กันไปแล้วสำหรับการเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรีระยะทาง 34.5 กม. จำนวน 30 สถานีเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมาโดยงานนี้นายเศรษฐาทวีสินนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังประเดิมทดลองใช้ก่อนใคร
โดยผลตอบรับก็เรียกได้พุ่งกระฉูด เพราะกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพิ่งรายงานตัวเลขผู้โดยสารไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยผู้คนแห่โดยสารถึง 98,828 คนเที่ยว/วัน และประชาชนใช้งานที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) มากที่สุดกว่า 17,000 คนเที่ยว/วัน จากสาเหตุที่เป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต
แถมล่าสุด กระทรวงคมนาคมใจป้ำเจรจาเอกชน – บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล (NBM) ที่มี บมจ.บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้ง ร่วมกับ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจี เนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ. ราช กรุ๊ป ร่วมถือหุ้นกัน จนยอมต่ออายุนั่งฟรีแบบไม่เสียสตางค์ จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 17 ธ.ค. 2566 นี้ ไปสิ้นสุดในวันที่ 2 ม.ค. 2567 แทน โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะอยู่ที่ 15-45 บาท ตามระยะทาง
และก่อนหน้านี้ ช่วงเดือน มิ.ย. 2566 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้เปิดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรงไป ซึ่งทั้งสองสายทางเป็นรถไฟฟ้าระบบโมโนเรลสายแรกของไทย และการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสองสายนี้ก็ทำให้แผนงานโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลถูกเติมเต็มมากขึ้น
เหลือสายสีส้มสายเดียว ยังไม่เสร็จ
ปัจจุบันในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล้วนเป็นไปตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะ 20 ปี (M-MAP) (พ.ศ.2553-2572) ที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อปี 2552 โดยในแผน M-MAP เหลือเพียงรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างและเปิดให้บริการ
สายสีส้ม อัพเดทล่าสุด ‘ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ’ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน โดยรฟม.ได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ครบถ้วนแล้ว และสรุปเสนอกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว แต่เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นให้รอผลคำการพิพากษากรณีมีข้อผิดพลาดให้เสร็จสิ้นกระบวนการเรียบร้อยก่อน
โดยปัจจุบัน ข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องคดี กับ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุน ฯ 2562 และรฟม. 3 คดีนั้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินพิพากษายกฟ้องแล้ว 2 คดี คงเหลือ1 คดี เรื่อง เปิดประมูลคัดเลือกรอบใหม่ TOR กีดกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้วอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์ ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่าศาลจะพิพากษาชี้ขาดเมื่อใด ซึ่งคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน
ส้มตะวันออกเสร็จแล้ว–ม่วงใต้คืบ 20%
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง ในปัจจุบันมี 2 สายคือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.63 กม. และรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี โดยสายสีส้มการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 100% แต่ยังเปิดไม่ได้ เนื่องจากงานเดินรถไปผูกไว้กับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก ที่ยังรอศาลปกครองตัดสิน
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานะ ณ เดือน ต.ค. 2566 คืบหน้าแล้ว 20.69% ตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570
เหล่านี้คือ สถานะรถไฟฟ้า 10 สายหลักของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ รถไฟฟ้าทั้ง 10 สายหลัก ยังมีส่วนต่อขยายที่ต้องดำเนินการต่อไปอีก แต่ส่วนใหญ่เป็นแผนระยะยาวที่ถูกบรรจุลงในแผนแม่บทระยะต่อไปเรียบร้อยแล้ว ต้องจับตากันดูว่า ต่อจากนี้รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ–ปริมณฑลจะครบเส้นทางเมื่อไหร่ และประชาชนจะได้ใช้งานในราคาที่เหมาะสมไปด้วยหรือไม่ รอดูฝีมือรัฐบาลกันต่อไป