ไทยพาณิชย์เผยธุรกิจอาหารเติบโตต่อเนื่อง
ธุรกิจบริการอาหารมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐแต่ยังต้องระวังปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจเช่นแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
ธุรกิจบริการอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตราว 11% ในปี 2567 เนื่องจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ในระยะกลางคาดว่ายังเติบโตต่อเนื่องที่อัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ในช่วงปี 2568-2570 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อที่ดีขึ้น ประกอบกับธุรกิจบริการอาหารส่วนใหญ่มีการปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของ COVID-19 โดยการเพิ่มช่องทางการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้มีช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้เติบโตจากลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจที่ต้องติดตาม เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลให้ต้นทุนปรับสูงขึ้นตาม เนื่องจากธุรกิจบริการอาหารเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำจำนวนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจบริการอาหารยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด
ธุรกิจบริการอาหารแบบ Full-service คาดว่าจะเติบโต 11% ในปี 2567 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงการระบาดของ COVID-19 แต่จะกลับมาฟื้นตัวจาก Pent up demand และการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยว รวมถึงกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยร้านอาหาร Chain มีโอกาสปรับตัวได้มากกว่าในการควบคุมต้นทุนเมื่อต้นทุนด้านแรงงานสูงขึ้น อีกทั้ง ยังสามารถนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดการจ้างพนักงาน เนื่องจากมีเงินทุนและสภาพคล่องที่มากกว่า
ธุรกิจร้านอาหาร Limited-service คาดว่าจะเติบโต 8% ในปี 2567 โดยร้านอาหารประเภทนี้ได้รับผลกระทบในช่วงโรคระบาดไม่รุนแรงเท่าประเภทอื่น เพราะร้านส่วนใหญ่เป็น Chain และมีบริการ Delivery ทำให้ปรับตัวได้ง่าย ทั้งนี้ในระยะข้างหน้า การขยายสาขาจะทำให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจะสนับสนุนการเติบโตในระยะกลาง และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากร้านส่วนใหญ่ใช้พนักงานน้อยและมีเงินทุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงาน
ร้านอาหารแบบคาเฟ่/บาร์ ค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัว คาดว่าจะเติบโต 13% ในปี 2567 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดค่อนข้างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังมีการปรับตัวโดยปรับปรุงร้านให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนเมนูตามกระแสนิยมของผู้บริโภค เช่น เมนูเพื่อสุขภาพ, ความนิยมชาไทย หรือการสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เช่น เมล็ดกาแฟที่สร้างรายได้ให้กับชาวเขา รวมไปถึงการนำเอกลักษณ์และวัตถุดิบเฉพาะมาเป็นจุดขาย อย่างไรก็ดี ร้านอาหารประเภทนี้มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะระหว่างร้านเล็ก ๆ กับร้าน Chain ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้มีความแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น การสร้างความแตกต่าง หรือการให้บริการเสริมที่ไม่เหมือนคู่แข่ง
ประเด็นด้าน ESG เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจบริการอาหารเริ่มให้ความสำคัญและตั้งเป้าหมายลด Carbon footprint โดยการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้วัตถุดิบท้องถิ่น การใช้พลังงานทดแทน การบริหารจัดการขยะอาหารให้มีประสิทธิภาพ ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมโดยการสนับสนุนชุมชนและให้ค่าแรงที่ยุติธรรมและส่งเสริมจริยธรรม
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/restaurant-071123
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : นางสาวชญานิศ สมสุข (chayanit.somsuk@scb.co.th) นักวิเคราะห์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
EIC Online : www.scbeic.com
Line : @scbeic