สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 พ.ย. 66
สภาพอากาศวันนี้ : มวลอากาศเย็นกำลังอ่อนที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมตะวันออก พัดปกคลุมประเทศไทย อ่าวไทย และทะเลอันดามัน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้าและมีฝนเล็กน้อย ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์: ในช่วง 4–6 พ.ย. 66 มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 3 พ.ย. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 4,605 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,662 ล้าน ลบ.ม. (77%)
ปริมาณน้ำใช้การ 39,495 ล้าน ลบ.ม. (68%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 10 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก และบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หนองหาร อุบลรัตน์ และลำปาว ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 2 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่+ น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคใต้ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สถานการณ์อุทกภัย
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 จังหวัด (กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี) รวม 12 อำเภอ 62 ตำบล 107 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 324 ครัวเรือน ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 20/2566 โดยมี นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อพิจารณาให้ยุติการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว และจะรายงานให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) รับทราบ ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นช่วงของการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะยังคงเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสำรวจ ตรวจสอบความเสียหาย และฟื้นฟูเยียวยาโดยเร็วต่อไป
ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ได้บูรณาการการทำงาน ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จนทำให้สามารถบริหารจัดการมวลน้ำไม่ให้ไหลหลากลงมาสมทบกับพื้นที่น้ำท่วมเดิม ช่วยลดผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ มีพื้นที่น้ำท่วมเพียง 0.75 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 65 ที่มีพื้นที่น้ำท่วม 3.16 ล้านไร่ แม้ว่าปีนี้จะไม่มีพายุพัดผ่านเข้าสู่ภาคอีสาน แต่อิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านทำให้เกิดภาวะน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร รวมทั้งพื้นที่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลหลายพื้นที่ หากไม่มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นเอกภาพ ก็อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา
มาตรการและการช่วยเหลือ
กรมชลประทานดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำปากคลอง 7 ซ้าย ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมทั้งแก้ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่