“อีสท์ วอเตอร์” ย้ำ ลุยธุรกิจน้ำครบวงจรไม่ทิ้งอีอีซี
อีสท์ วอเตอร์ โชว์ผลงานปี 2566 โดดเด่น เดินหน้าธุรกิจน้ำครบวงจรแบบเต็มสูบ ขายหุ้นกู้ EASTW หมดในวันที่เปิดจอง ผู้ถือหุ้นตอบรับดีเกินคาด ตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุน ย้ำทริสเรทติ้งอันดับเครดิตที่ระดับ “A” ยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง คาดปี 2567 ศักยภาพโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมพื้นที่ EEC แน่นอน
นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า มีการขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยในปี 2566 ลงนามสัญญาซื้อขายน้ำดิบ 2 โครงการ กับ บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี (CPGC) จ.ระยอง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เพื่อใช้ในพื้นที่โครงการวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง รวมถึงลงนามสัญญาซื้อขายน้ำอุตสาหกรรม 2 โครงการ กับบริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในจังหวัดระยอง และ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ให้บริการน้ำอุตสาหกรรมแก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง 2
สำหรับหุ้นกู้ EASTW ขายดีเกินคาด เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ได้เสนอขายหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ มูลค่ารวม 2,900 ล้านบาท และมีแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในระยะเวลาอันใกล้ตามความต้องการของนักลงทุน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่ออีสท์ วอเตอร์ในฐานะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีโครงข่ายท่อส่งน้ำในเขตพื้นที่ EEC และมีประสบการณ์ที่ยาวนาน โดยวัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ จะนำไปใช้ในโครงการระบบท่อส่งน้ำ ธุรกิจน้ำดิบ และธุรกิจน้ำอุตสาหกรรม
ถึงแม้ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันเป็นระดับ “A” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” จากเดิมที่ระดับ “A+” และแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. ไม่สามารถต่อสัญญาเช่าระบบท่อส่งน้ำของกรมธนารักษ์ได้ 2. ลงทุนพัฒนาระบบท่อส่งน้ำทดแทนของกรมธนารักษ์ ทั้งนี้การลงทุนวางท่อส่งน้ำทดแทนเป็นสิ่งที่อีสท์ วอเตอร์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพท่อส่งน้ำสายหลัก ให้กลับเป็น Water Grid ที่สมบูรณ์และสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตที่ระดับ “A” นั้น ยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของอีสท์ วอเตอร์ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการหลักซึ่งมีโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมในเขตพื้นที่ EEC ตลอดจนกระแสเงินสดที่แน่นอน และความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง
ในส่วนของความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำสายหลักทดแทน ท่อส่งน้ำเดิม ซึ่งการวางท่อส่งน้ำทั้ง 3 โครงการ จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะเวลากันใกล้ เพื่อให้ส่งผลกระทบกับผู้ใช้น้ำของอีสท์ วอเตอร์น้อยที่สุด หากก่อสร้างแล้วเสร็จความยาวของท่อส่งน้ำสายหลักประมาณ 526 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา และยังมีแผนพัฒนาศักยภาพการสูบส่งน้ำไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย โดยมีความคืบหน้าโครงการ ดังนี้
1. โครงการท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล – หนองค้อ – แหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี สามารถรองรับการส่งน้ำได้ 350,000 ลบ/วัน มากกว่าเดิม ทำให้ส่งน้ำไปให้พื้นที่ชลบุรี ได้อย่างเพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือในกรณีเกิดภัยแล้ง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยังยืน ความยาวกว่า 57.1 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำสายหลักประแสร์ – หนองปลาไหลเดิมของอีสท์ วอเตอร์
2. โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบคลองหลวง จังหวัดชลบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมายังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ แทนการผันน้ำผ่านคลองพานทอง ความยาวกว่า 49 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อจากท่อส่งน้ำสายหลักปลวกแดง – บ่อวิน ความคืบหน้าโครงการวางท่อแล้วเสร็จ 42 กิโลเมตร ในส่วนที่เหลืออีก 7 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการขออนุญาตให้วางท่อในพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่ง อีสท์ วอเตอร์พร้อมดำเนินการ
3. โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบมาบตาพุต-สัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพิ่มศักยภาพในการส่งน้ำให้แก่ภาคอุปโภค บริโภค และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ความยาวกว่า 27 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-มาบตาพุต เส้นที่ 2
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 อีสท์ วอเตอร์ยังคงมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในการสร้างความมั่นคงของการจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำครบวงจรของประเทศด้วยสมาร์ทเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับผู้ใช้น้ำเป็นหลัก และจะสามารถสร้าง Water Grid ที่มั่นคง และแข็งแกร่งที่สุดในภาคตะวันออก รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC สร้างการเติบโต และแข็งแกร่งให้แก่พื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนตลอดไป