ลุ้นนายกฯ เคาะดิจิทัล วอลเล็ต 24 ต.ค.นี้
“จุลพันธ์” ไม่ทิ้งดิจิทัล วอลเล็ต ความหวังของคนในต่างจังหวัด พร้อมรับฟังทุกความเห็นจากนักวิชาการ ภาคเอกชนและประชาชน ยันสิ้นเดือนนี้ สรุปทุกอย่าง หลังส่งให้นายกฯ เคาะ วันที่ 24 ต.ค.นี้
ยันเดินหน้าโครงการ “เติมเงิน ดิจิทัล 10,000 บาท” นัดถกอนุกรรมการ นัดแรก 12 ต.ค.นี้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และพร้อมรับความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งนักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ให้ความสนใจ ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยตนจะเก็บทุกๆ ความเห็นมาพิจารณาแน่นอน
“ถามว่า ทำไมต้องมีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แน่นนอนว่า เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาสะสมมานาน จนประชาชนส่วนใหญ่มีความยาก ลำบาก รัฐบาล และผมในสถานะที่เป็น ส.ส.ด้วย ลองไปถามคนต่างจังหวัด ร้อยทั้งร้อย รอนโยบายนี้ด้วยความหวัง แต่แน่นอนรัฐบาลไม่ได้ละเลยเสียงสะท้อนไม่ว่าจะเป็น ภาควิชาการ หรือ ภาคอื่นๆที่เห็นความแตกต่าง อย่างไรก็ตามนโยบายนี้เป็นความหวังของประชาชน แน่นนนว่ารัฐบาลต้องดำเนินนโยบายนี้ให้สำเร็จ” นายจุลพันธ์ กล่าว
ขณะนี้ เห็นว่าตัวเลขหลายตัวสะท้อนให้เห็น เช่น รายได้เกษตรกรที่ลดลง การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแม้แต่หนี้ครัวเรื่อนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เห็นว่าตอนนี้ประเทศไทยยังอยู่ในความเปราะบาง ดังนั้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งนี้ จึงเป็นความจำเป็นที่จะสามารถ รีสตาร์ทชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อีกครั้งหนึ่ง
ส่วนคำถามต่อมา คือ เงินดิจิทัล คืออะไร ซึ่งบางคนพูดไปพูดกันว่า เป็น สกุลเงินคริปโทเคอเรนซี่ ซึ่งขอชี้แจงว่า เงินในนโยบายดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ใช่เงินที่รัฐบาลเสกขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่รัฐบาลผลิตขึ้นมาเอง แต่เงินที่จะใช้ทุกบาทยังเป็นปตามกรอบกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำว่า จะไม่มีการพิมพ์เงิน ขึ้นมาใหม่ ไม่มีแพลตฟอร์ม แล้วเขียนโปรแกรมสร้างสกุลเงินใหม่ เพราะเงินในโครงการจะมีมูลค่าเท่ากับเงินบาท และมีการรองรับด้วยเงินบาทไทยเป็นเพียงแค่ กฎเกณฑ์การกำหนดให้ใช้จ่ายผ่านรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น
ส่วนกรณีที่ รัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตรนับจากทะเบียนบ้านนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต กำลังพิจารณา และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยาย มากกว่า 4 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดการคล่องตัวในการใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ซึ่งอาจจะขยายเป็นใช้จ่ายภายในอำเภอ หรือ ตำบล ตามทะเบียนบ้าน
ขณะที่ เรื่องของแหล่งเงิน ขอเรียนว่ายังต้องใช้เวลาในการพิจารณา เนื่องจากมีตัวเลือกจากหลายแหล่งที่มีม แต่จะใช้จากงบประมาณเป็นหลัก ซึ่งยังอยู่ระหว่างให้หน่วยงานต่างๆยื่นของใช้งบประมาณปี 2567 แต่ก็จะไปตัดส่วนที่เป็นมองว่าเป็นส่วนเกินมาใช้ในโครงการ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ยังคงยึดมั่นใน กฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง
ทั้งนี้รายละเอียดทุกเรื่องของ โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะได้ขอสรุปภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้ โดยจะมีการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต นัดแรกในวัน ที่ 12 ต.ค.ซึ่งจะมีแถลงผลการประชุมด้วย และจะนัดคณะอนุกรรมการ มาประชุมหาข้อสรุปอีกครั้ง ในวันที่ 19 ต.ค. เพื่อที่จะรวบรวมนำเสนอ คณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสินเป็นประธาน ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ ต่อไป
ส่วนข้อห่วงใย เรื่องของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น แน่นอนว่า รัฐบาลก็ยึดกรอบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โอย่างไรก็ดีถ้าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวเพียง 2% ต่อปีอย่างในอดีต ประชาชนก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากลำบากได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องสร้างให้เศรษฐกิจโตอย่างเหมาะสม และมีเสถียรภาพไปพร้อมกัน เพื่อหาจุดที่สมดุล ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงยังมีความจำเป็น
“ขอย้ำว่า รัฐบาล ไม่มีความขัดแย้งในนโยบายนี้กับ ธปท. โดยผู้ว่า ธปท.ยังมานั่งเป็นกรรมการในคณะกรรม การชุดใหญ่ที่มีนายกเป็นประธานอีกด้วย แต่อาจมีข้อเสนอจาก ธปท. ซึ่งเราก็รับฟัง และจะนำมาปรับอย่าง ไรให้เกิดความสมดุล”นายจุลพันธ์ กล่าวในท้ายที่สุด