สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 ก.ย. 66
ภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตราด (158) กรุงเทพมหานคร (145) จ.มุกดาหาร (92) จ.กาญจนบุรี (92) จ.ระนอง (85) และ จ.อุตรดิตถ์ (82)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 51,681 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,307 ล้าน ลบ.ม. (65%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 21/2566 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี – มูล
จากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี คาดว่าในวันที่ 2 ต.ค. 2566 ระดับน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงของ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ครั้งที่ 4 ณ ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ได้ร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขของพื้นที่ โดยสรุปจุดเด่นของพื้นที่คือติดป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งน้ำซับตลอดปี มีระบบประปาภูเขา และชุมชนมีกติการ่วมกันในการงดใช้ยาฆ่าแมลงในแปลงเกษตรที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ปัญหาสำคัญคือเป็นพื้นที่สูงชัน ในฤดูฝนจะมีน้ำหลากเร็วและแรง และไหลผ่านหมู่บ้านเซาะฝายและที่กั้นน้ำของชุมชนไปทุกปี ทำให้มีน้ำที่เก็บกักไว้ในหนองและอ่างขนาดเล็กที่กระจายทั่วไปไม่พอใช้ทั้งน้ำกินน้ำใช้และน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง และน้ำทุกแหล่งจะมีตะกอนดินสูงต้องผ่านการกรองก่อนดื่ม โดยชุมชนมีแนวทางร่วมกันในการแก้ไข ได้แก่ (1) ร่วมกับหมู่บ้านโดยรอบรักษาและฟื้นฟูป่าและไม่ใช้สารเคมีในการเกษตร (2) สร้างฝายชะลอน้ำที่แข็งแรง 2 จุด พร้อมฝายดักตะกอน (3) สร้างบ่อกรองหยาบกรองน้ำก่อนให้ไหลเข้าในชุมชน (4) สร้างระบบส่งน้ำไปเก็บในทุกครัวเรือนในมากที่สุดในฤดูฝน (5) เพิ่มถังเก็บน้ำในทุกครัวเรือน (6) ฟื้นฟูหนองน้ำเดิมให้ช่วยเก็บและส่งต่อน้ำภายในหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ชุมชนมีแนวคิดสร้างกลุ่มคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ (1) กลุ่มดูแลการเปิดระบบสูบน้ำให้พอเพียงกับทุกครัวเรือน (2) กลุ่มทบทวนปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางพัฒนา (3) กลุ่มจัดทำแผนและสมดุลน้ำ (4) กลุ่มพัฒนากติกาการใช้น้ำร่วมกัน พร้อมทั้งการดูแลรักษาฝายชะลอน้ำและฝายดักตะกอน และ (5) กลุ่มทำการเกษตรตัวอย่าง พร้อมกันนั้น ชุมชนต้องการให้มีการอบรมอาชีพให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เช่น จักสาน ทอผ้า และการค้าขายออนไลน์ โดย อบต.เชียงของจะร่วมขับเคลื่อนและขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 27 กันยายน 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2566 ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี – มูล ในช่วงวันที่ 26 – 28 กันยายน 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง จะเคลื่อนเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ รวมถึงจากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบัน (วันที่ 25 กันยายน 2566) ระดับน้ำ +112.21 เมตร ระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 0.21 เมตร จากปริมาณฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ระดับน้ำจะอยู่ที่ระดับ +112.84 ม.รทก. (สูงกว่าตลิ่ง 0.84 ม.) ซึ่งปริมาณน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการปฏิบัติการฝนหลวง 5 หน่วยปฏิบัติการ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และป่าไม้ 8 จังหวัด (จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.ระยอง จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี) เติมน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำ 19 แห่ง (เขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่(วังแขม) อ่างเก็บน้ำซับตะเคียน อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก บึงบอระเพ็ด เขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเดื่อ อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองระโอก เขื่อนแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม อ่างเก็บน้ำห้วยพุน้อย)
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 23 – 24 กันยายน 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงของ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ครั้งที่ 4 ณ ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน โดยทาง สทนช. และ สสน. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน จึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ โดยคัดเลือกพื้นที่ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องในการเสริมความเข้าใจบริบทและวิถีของพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำเป็นอย่างยิ่ง สร้างความรู้กลไกวิธีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเบื้องต้น ให้ประชาชนร่วมเรียนรู้และขยายผลในพื้นที่ เพื่อเกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ