กัมพูชาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ธนาคารโลกปรับแก้สถานะทางเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
โดยเลื่อนขึ้นจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็น ประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นต่ำ โดยการปรับเลื่อนสถานะในครั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะช่วยเพิ่มขนาดความช่วยเหลือจากต่างประเทศและการเข้าถึงสิทธิพิเศษทางการค้าในอนาคตอันใกล้นี้
การเปลี่ยนสถานะอย่างเป็นทางการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ตามหลังการประกาศการปรับสถานะประจำปีของธนาคารโลก ซึ่งจัดทำบนข้อมูลที่อ้างอิงจากการประเมินรายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) เฉลี่ยต่อหัวประชากรในปีปฏิทินที่ผ่านมา
จากเกณฑ์ของธนาคารโลก ประเทศเศรษฐกิจรายได้ต่ำจะต้องมีตัวเลขจีเอ็นไอต่อคนน้อยกว่า 1,025ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 โดยประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลางขั้นต่ำ รายได้ประชากรอยู่ระหว่าง 1,026 – 4,035 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลางขั้นสูงอยู่ระหว่าง 4,037-12,745 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ส่วนประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงกว่านี้จะถูกจัดว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง
ทั้งนี้ กัมพูชาขยับสถานะพ้นจากประเทศรายได้ต่ำหลังจากตัวเลขจีเอ็นไอสูงถึง 1,020 ดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2557 และคาดการณ์ไว้ว่าจะผ่านเกณฑ์ขึ้นไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำต้นปี 2558 โดยกัมพูชาเป็น 1ใน 10 ประเทศที่ถูกปรับสถานะจากธนาคารโลกในปีนี้ และเป็น 1 ใน 3 พร้อมกับประเทศจอร์เจียและกายอานา ที่ได้ปรับสถานะสูงขึ้น
โดยกัมพูชาถูกปรับสถานะใหม่ขึ้นมาอยู่ในสถานะเดียวกับอีก 51 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งอินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์
การปรับสถานะขึ้นของกัมพูชาต้องแลกมากับการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าบางอย่าง รวมถึงนโยบายสิทธิพิเศษปลอดภาษีและปลอดโควต้านำเข้าสินค้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธของสหภาพยุโรป (EBA) ซึ่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ซึ่งเป็นการเข้าถึงกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก
เช่นเดียวกับระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GPS) ที่อนุญาตให้สินค้าจากกัมพูชาเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาโดยปลอดภาษีและปลอดโควต้าการนำเข้า
ที่ผ่านมาสิทธิพิเศษทางการค้าที่ได้รับช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมสำคัญของกัมพูชา เช่น เกษตรกรรม และสิ่งทอมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
นายจอร์จ เอ็ดการ์ ทูตสหภาพยุโรปประจำกัมพูชา กล่าวว่า ถึงแม้สถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดจะหมดอายุไปใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ กัมพูชาจะมีช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอยู่พอสมควรเพื่อปรับตัว
นายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา ให้ความเห็นว่าจะไม่มีผลกระทบจากการปรับสถานะทางเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยกัมพูชาจะใช้ช่วงเวลานี้ให้ได้ประโยชน์กับประเทศมากที่สุด ในการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะสูญเสียสิทธิพิเศษต่างๆและจะพยายามเจรจาเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษจากข้อตกลงทางการค้าในตลาดอื่น