สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ก.ย. 66
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.สกลนคร (91) จ.นครศรีธรรมราช (84) จ.น่าน (61) จ.ปราจีนบุรี (54) จ.กาญจนบุรี (51) จ.สุพรรณบุรี (32)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 49,616 ล้าน ลบ.ม. (60%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 44,365 ล้าน ลบ.ม. (62%)
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 18/2566 ในช่วงวันที่ 17-21 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จ.น่าน ลำน้ำแควน้อย จ.พิษณุโลก ลำน้ำก่ำ จ.นครพนม ลำเซบาย จ.ยโสธร แม่น้ำลำปาว อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อ.โพนทอง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำเหนือ ลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เป็น 500 – 700 ลบ.ม./วินาที และหากจะเพิ่มขึ้นจะได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึง จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง ของ อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 1 – 1.20 เมตร แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งราว 7-8 เมตร และน้ำจะยังไม่ล้นตลิ่งในช่วงนี้
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จ.อุตรดิตถ์ เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำ และติดตามการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ณ เขื่อนทดน้ำผาจุก อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี และเขื่อนสิริกิติ์ จากการตรวจสอบพื้นที่จ.อุตรดิตถ์พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร จำนวน 4 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าสัก ต.ท่ามะเฟือง ต.นาอิน อ.พิชัย และ ต.วังแดง อ.ตรอน ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 ถึงปัจจุบัน น้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 16 และในพื้นที่ภาคเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 25 สำหรับสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี และเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในลุ่มน้ำน่าน ยังคงมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ปี 2565
ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งกำชับทุกหน่วยงานให้เตรียมแผนการรับมือ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 กันยายน 2566 ดังนี้
- ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2566 ลงวันที่ 15 กันยายน 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 17 – 21 กันยายน 2566 พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเทิง) จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย ฝาง และแม่อาย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน แม่จริม ปัว เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ ทุ่งช้าง ท่าวังผา เวียงสา และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก และหล่มเก่า) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย วังสะพุง และภูหลวง) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอหนองบัวแดง) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี บ้านดุง กุมภวาปี นายูง และหนองหาน) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กุฉินารายณ์ สมเด็จ นามน ดอนจาน สามชัย และคำม่วง) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี) ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ ขลุง โป่งน้ำร้อน และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง แหลมงอบ บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด) และพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ
ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จังหวัดน่าน ลำน้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม ลำเซบาย จังหวัดยโสธร แม่น้ำลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด - ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการจัดกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน พร้อมด้วยกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการสำรวจ และติดตามระดับน้ำในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันเหตุการณ์ เนื่องจากฝนตกอย่างหนักในพื้นที่ติดต่อกันหลายวัน จากอิทธิพลของร่องมรสุม ณ พื้นที่บ้านดอนว่าน หมู่ที่ 9 ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ - การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อติดตามการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เกาะภูเก็ต และประชุมแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมมาตรการประหยัดน้ำในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตและนายกสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น/ท้องที่ ผู้นำชุมชนผู้แทนภาคประชาชน ภาคเอกชน และคณะที่ปรึกษาโครงการ รวมกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมบูกิตตาบูทีค โฮเทล จังหวัดภูเก็ต พร้อมเยี่ยมชมมาตรการประหยัดน้ำของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ณ โรงแรมดาราภูเก็ต
จังหวัดภูเก็ต