สทนช. ลงภูเก็ตถกใช้น้ำอย่างประหยัดรับท่องเที่ยวบูม
สทนช.หารือภาคธุรกิจท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต เร่งขับเคลื่อนมาตรการประหยัดน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต
สทนช.ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนต่อแผนหลักฯแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมหารือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว เร่งขับเคลื่อนมาตรการประหยัดน้ำในภาคการท่องเที่ยวและบริการ เสริมศักยภาพเมืองท่องเที่ยวยอดฮิต พร้อมรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต หวังสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อติดตามการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เกาะภูเก็ต และประชุมแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมมาตรการประหยัดน้ำในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตและนายกสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น/ท้องที่ ผู้นำชุมชน ผู้แทนภาคประชาชน ภาคเอกชน และคณะที่ปรึกษาโครงการ รวมกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมบูกิตตา บูทีค โฮเทล จ.ภูเก็ต พร้อมเยี่ยมชมมาตรการประหยัดน้ำของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ณ โรงแรมดาราภูเก็ต จ.ภูเก็ต
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรกๆ ของประเทศที่ได้มีการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำถึงระดับตำบล ดังนั้นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อโครงการศึกษาแผนหลักฯ ในวันนี้ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาและการวางโครงการเบื้องต้น 7 โครงการ จากแผนงานขับเคลื่อนมากกว่า 400 โครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุด สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และใช้เป็นตัวแบบในการขยายผลของการดำเนินโครงการในแต่ละด้านของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ภูเก็ต ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจนถึงปี 2580 เช่น โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ต.ป่าคลอก โครงการขุดลอกคลองท่ามะพร้าว และโครงการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดินพื้นที่ตอนบนของชุมชนน้ำตกกะทู้ เป็นต้น
ในส่วนการหารือผู้ประกอบภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมมาตรการประหยัดน้ำนั้น เนื่องจาก จ.ภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ยังคงประสบปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของจังหวัดที่เป็นเกาะและมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สถานการณ์น้ำท่วม และการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น โดยแนวทางการแก้ไขอย่างเหมาะสมจะต้องมีความสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ที่ประสบปัญหา จะสามารถช่วยลดทอนและขจัดปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของ จ.ภูเก็ต ลงได้
“แม้ว่า จ.ภูเก็ต จะมีแผนงานที่มีความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ถึงระดับตำบล แต่หากประชาชนในพื้นที่ ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการการใช้น้ำอย่างประหยัดแล้ว ก็จะส่งผลให้การใช้น้ำในภาพรวมลดลง ช่วยลดสภาวะโลกร้อน เช่น การฝึกอบรมหรือสร้างความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์นํ้าให้กับพนักงาน การใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำ การเก็บกักน้ำฝนเพื่อนำกลับมาใช้ การบำรุงรักษาอุปกรณ์งานประปาเพื่อลดการสูญเสียนํ้า การติดมิเตอร์ที่ฝักบัวเพื่อดูปริมาณการใช้น้ำ การรีไซเคิลนํ้า เป็นต้น อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ หรือการทำแคมเปญรณรงค์ประหยัดน้ำของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ก็จะเป็นการสร้างซอฟท์พาวเวอร์ให้กับภาคการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน จะมีมาตรการที่เป็นสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ซึ่งมาตรการประหยัดน้ำเป็นวิธีการง่ายๆ และสามารถดำเนินการได้ทันที ช่วยสร้างจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและเกิดความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
19 กันยายน 2566