เบร็กซิทไม่กระทบอินโดนีเซีย
เจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารกลางอินโดนีเซียชี้ว่า ผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจที่จะแยกตัวออกสหภาพยุโรป
หรือที่เรียกกันว่า ‘เบร็กซิท’ ดูเหมือนจะไม่ส่งผลที่สำคัญกับอินโดนีเซีย
นายเพอร์รี่ วอร์จิโย รองผู้ว่าการธนาคารกลางของอินโดนีเซียกล่าวว่า จากการประเมินของธนาคารถึงแม้การลงประชามติเพื่อจะโหวตว่าสหราชอาณาจักรจะยังอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่ในวันที่ 23 เดือนนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่กลับมีผลต่อประเทศเศรษฐกิจใหม่อยู่ในวงจำกัด โดยนายเพอร์รี่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ว่า “ทางธนาคารเชื่อว่า ผลกระทบกับอินโดนีเซียจะมีไม่มากนัก”
เขากล่าวว่า ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมหภาคของอินโดฯ จะยังคงพึ่งพาได้และมีเสถียรภาพ ถึงแม้จะมีความผันผวนของเสรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 ปีมานี้ มาตรการทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องของรัฐบาล การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและกฎข้อบังคับจากทางธนาคารกลางช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
เขาให้ความเห็นว่า “3 สิ่งที่กล่าวมานี้จะช่วยต้านทานผลกระทบจากเบร็กซิทที่มีต่ออินโดฯ ดังนั้นจึงไม่น่ากังวลว่าจะมีผลกระทบที่สำคัญอะไร”
ตามความเห็นของนายเพอรืรี่ เบร็กซิทจะก่อให้เกิดสถานการณ์ที่นักลงทุนย้ายจากตลาดพันธบัตรของสหราชอาณาจักรไปที่อื่นที่ปลอดภัยกว่า เช่น สหภาพยุโรป นอกจากนี้ ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษจะอ่อนค่าลง ในขณะที่เงินยูโรจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น
นอกจากนี้ ทางธนาคารกลางยังได้คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อของเดือนมิ.ย.จะอยู่ที่ 0.6% จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน หรือช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม
นายริสกี อี.วิมันดา หัวหน้าฝ่ายประเมินตัวเลขเงินเฟ้อของทางธนาคารกล่าวว่า เงินเฟ้อมีผลจากราคาสินค้าอาหารพื้นฐาน โดยเฉพาะ เนื้อวัว ไข่ และน้ำมันปรุงอาหาร
โดยนายริสกีกล่าวว่า ธนาคารกลางอินโดฯ จะดำเนินงานจัดการประสานกับทีมควบคุมเสถียรภาพเงินเฟ้อในท้องถิ่นเพื่อทำให้ราคาโภคภัณฑ์พิ้นฐานมีเสถียรภาพ
เขากล่าวว่า “อัตราเงินเฟ้อนี้จัดว่าต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีเลยที่เดียว เราจึงมองในแง่บวกว่า ทางธนาคารจะสามารถคงอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 4% ได้ตลอดปีนี้”
อ้างอิงจากความเห็นของนายริสกี ตัวเลขเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นไปสูงสุดในเดือนหน้าเนื่องจากจะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นไปตามแผนของภาครัฐ โดยทางธนาคารกลางคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อประจำเดือนจะพุ่งไปอยู่ที่ 0.98% ในเดือนก.ค.นี้.