สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 ก.ย. 66
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.อุตรดิตถ์ (203) จ.ตราด (105) จ.มุกดาหาร (92) จ.ยะลา (82) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (49) จ.ลพบุรี (40)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,638 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,108 ล้าน ลบ.ม. (56%)
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 17/2566 ในช่วงวันที่ 5-10 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ มุกดาหาร นครพนม และนครราชสีมา ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จ.อุทัยธานี และกาญจนบุรี ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ระนอง และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จ.น่าน
สทนช.เร่งบริหารแก้ปัญหาน้ำ 3 ด้าน น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ต ยังประสบปัญหาทั้งด้านการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี จากภาวะฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาน้ำท่วม เกิดจากคลองส่วนใหญ่น้ำล้นตลิ่งเนื่องจากสภาพทางภูมิประเทศในบางช่วงที่เป็นลักษณะคอขวด ทำให้ระบายน้ำได้น้อยจนเกิดน้ำสะสมล้นตลิ่ง รวมถึงมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ น้ำทะเลหนุนบริเวณชายฝั่ง เพื่อให้การแก้ไขด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภูเก็ตบรรลุผลมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำ สทนช. ได้ทำโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต ตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ที่ครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้จังหวัดภูเก็ตได้ ประมาณ 60.53 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์จากการจัดการด้านอุทกภัย จำนวน 42,796 ไร่ และสามารถเพิ่มศักยภาพในการบำบัดน้ำเสียได้ จำนวน 4.96 ล้าน ลบ.ม./ปี
การบำบัดน้ำเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นแผนหลักการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดภูเก็ต ซึ่ง โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่สามารถใช้ขยายผลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้ เทศบาลเมืองป่าตองได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเสีย เพื่อเป็นศูนย์รวมในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดำเนินการตั้งปี 2532 ความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 2,250 ลบ.ม./วัน และได้พัฒนาปรับปรุงระบบต่างๆ เรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันสามารถรองรับน้ำเสียได้รวม 39,000 ลบ.ม./วัน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 กันยายน 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2566 ลงวันที่ 3 กันยายน 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5 – 10 กันยายน 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและ ดินโคลนถล่ม ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) จังหวัดแพร่ (อำเภอร้องกวาง) จังหวัดน่าน (อำเภอปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย และเนินมะปราง) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ และเมืองเพชรบูรณ์) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด) จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอภูเรือ) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอหนองบัวแดง) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอเมืองมุกดาหาร) จังหวัดนครพนม (อำเภอธาตุพนม) จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอปากช่อง) ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บ้านโพธิ์ บางน้ำเปรี้ยว และบางปะกง) จังหวัดนครนายก (อำเภอปากพลี และองครักษ์) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอประจันตคาม และบ้านสร้าง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง และแหลมสิงห์) จังหวัดตราด (อำเภอคลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง แหลมงอบ และบ่อไร่) ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่) จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ) ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอฉวาง และพิปูน) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต และถลาง)
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 6 – 10 ก.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนัก บางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทั้งนี้ พายุดีเปรสชัน “ไห่ขุย” (HAIKUI) บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว ยังคงโดยไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
3. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน ตำเนินการกำจัดวัชพืชกีดขวางทางน้ำ บริเวณปากคลองขุดลัด ตำบลหาดท่าเสา อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท และบริเวณคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 ขวา หมู่ 6 ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ