เวียดนามขาดดุลการค้าปีนี้
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามคาดการณ์ว่า เวียดนามจะยังคงขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ในระดับต่ำกว่า 5% ของรายได้โดยรวมจากการส่งออก
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายวู บาฟู ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนของกระทรวง กล่าวในการประชุมทางไกลที่นครฮานอยว่า เวียดนามมียอดขาดดุลการค้าสูงประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพ.ค. ถึงแม้เวียดนามจะได้ดุลการค้าประมาณ 2% ของมูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี แต่อุปสงค์ในการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานยังคงสูงอยู่
นอกจากนี้ ยังมีอุปสงค์ในการนำเข้าอุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อขยายการผลิต และโอกาสที่เกิดจากข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับที่เวียดนามได้เข้าร่วม
โดยใน 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามได้ดุลการค้าสูงถึง 1,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากยอดรายได้การส่งออก 67,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นถึง 6.6% ต่อปี) และจากยอดการนำเข้ามูลค่า 66.300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลง 0.9% จากปีก่อนหน้า)
การนำเข้าผลิตผลการเกษตร ป่าไม้ และประมงเพิ่มขึ้นเป็น 818 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 10.1% จากปีก่อนหน้านี้ เปรียบเทียบกับการนำเข้าที่ลดลง 10% กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
จีนยังคงเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดมาที่เวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกนี้ มีมูลค่าถึง 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงมา 2.9% ต่อปี
ทั้งนี้ เวียดนามนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ สิ่งทอ ดีบุก และเหล็กจากจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเวียดนามส่งออกสินค้าไปที่จีนถึง 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้นถึง 16.5% จากปีทีผ่านมา
โดยเวียดนามคาดการณ์ว่าจะส่งโภคภัณฑ์มูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปขายที่จีน และนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เวียดนามขาดดุลการค้ากับจีนถึง 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดต่ำลงมา 13.6% จากยอดขาดดุลเดิม 32,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในปีที่แล้วสหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยนำเข้าโภคภัณฑ์มูลค่า 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 14.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว รองลงมา คือสหภาพยุโรปที่มีมูลค่าการนำเข้าถึง 13,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11%
เพื่อให้ได้ตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกที่สูงถึง 10% ตามที่สมัชชาแห่งชาติเวียดนามตั้งเป้าไว้ ในปีนี้ ทางกระทรวงต้องมีมาตรการที่ออกแบบใหม่เพื่อรับมือกับอุปสรรคทางธุรกิจและส่งเสริมความสามารถและกำลังในการผลิต