ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 18-19 ส.ค. 2566
มาแล้วหนึ่งลุง พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเก่าของ บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เรื่องที่ 2,713 มาแล้วหนึ่งลุง พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเก่าของ บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน
แม้ พลเอกประยุทธ์ จะลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้ว กระนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังถูกมองว่าเป็นพรรคลุงอยู่ดี เพราะคะแนนเสียงที่ได้นั้น มาจากความนิยมในตัวของพลเอกประยุทธ์ ซะส่วนใหญ่ ดังนั้น การจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ จึงหลีกเลี่ยงข้อครหาไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทย เอาลุง
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ก่อนหน้านี้ ประกาศว่าจะยกมือโหวตให้เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่
ว่ากันว่า ที่ยังไม่มีความชัดเจน ก็เพราะการเจรจาในเรื่องของตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ยังไม่ลงตัว จึงยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการว่า พรรคพลังประชารัฐจะเข้าร่วมรัฐบาล
แต่การโหวตนายกรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมนี้อยู่แล้ว หากไม่มีความชัดเจนตรงนี้ พรรคพลังประชารัฐ ก็อาจเปลี่ยนใจไม่โหวตให้เศรษฐา ก็เป็นได้ นี่เป็นเกมที่ลุ้นระทึก
และวัดใจพรรคเพื่อไทยว่า จะยอมให้ตำแหน่งที่พรรคลุงป้อม ต้องการได้หรือไม่
เรื่องที่ 2,714 เห็นความพยายามของภาคเอกชนในเรื่องของการจะทำให้ค่าไฟถูกลงแล้วก็ต้องบอกเลยว่าแสดงความชื่นชมจากใจ และก็ต้องขออนุญยาติกลายร่างไปเป็นกองเชียร์แบบสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะนี่คือปัญหาใหญ่พอๆกับค่าน้ำมันที่ประชาชนคนไทยอย่างเราต้องแบกรับกันอย่างหนักอึ้ง
ครั้งนี้ พี่ก้อง “อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท. เสนอว่า ระยะแรกจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) นั่นก็คือ การปรับหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินมาช่วย เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาล มีระยะเวลาที่เหมาะสมเช่น 5 ปี
จากนั้นก็ไปแก้ไขปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้า (Supply) ที่เกินกับความต้องการบริโภคในประเทศ เช่น แก้ไขปัญหาค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า (AP) เร่งเจรจาลดมาร์จิ้น (Margin) หรือกำไร รวมถึงควรยืดเวลาของสัญญาเดิม ควบคู่ไปกับการไม่เร่งเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ เข้ามาในระบบ
ส่วนข้อนี้ บก.ชวนคุยชอบเป็นการส่วนตัวนั่นคือส่งเสริมและปลดล็อกการเข้าถึงพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม ขณะที่ระยะกลาง และยาวพี่ก้องบอกว่าต้องเร่งเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (OCA) และเปิดให้บุคคลที่สาม (TPA) ในระบบสายส่งไฟฟ้า และท่อก๊าซธรรมชาติ ส่งเสริมการแข่งขันเสรี ลดการผูกขาด
ทุกข้อที่ว่ามาไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปได้แทบทั้หงมด เพียงแค่จะฟังเสียงของเอกชน หรือประชาชนบ้างกันหรือไม่เท่านั้นแหละ ฝากเอาไว้คิดครับเจ้านาย
โดยนพวัชร์