Krungthai Compass แนะภาคเกษตรไทยพร้อมรับมือ Climate Risk ที่รุนแรงขึ้น
Krungthai Compass แนะภาคเกษตรไทยพร้อมรับมือ Climate Risk ที่รุนแรงขึ้น
ปัญหา Climate Risk ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ได้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตภาคเกษตรทั่วโลกอยู่ที่ราวปีละ 21,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 71.6 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าในปี 2030 ความเสียหายในภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ปีละ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 502.5 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก ทำให้ปัจจัย Climate Risk มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือ ผลกระทบจาก Climate Risk จากปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นรอบล่าสุดนี้จะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรแค่ไหน? ในระยะข้างหน้าภาคเกษตรจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) ในมิติใดบ้าง? และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะรับมือกับความเสี่ยงนี้อย่างไร? แต่ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ อยากชวนผู้อ่านมาสำรวจข้อมูลสถานการณ์ Climate Risk ในไทยก่อนว่าน่ากังวลหรือยัง?
สถานการณ์ Climate Risk ในไทยเป็นอย่างไร?
ไทยมีความเสี่ยงสูงจากปัญหา Climate Change และความเสี่ยงดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบต่อไทยชัดเจนมากขึ้น โดยจากข้อมูลจาก Global Climate Risk 2021 ชี้ว่า ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก จึงมีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่สูงขึ้นกว่าปกติและสภาพอากาศสุดขั้ว (รูปซ้าย) ขณะที่ล่าสุดในปี 2566 ไทยเจอกับปัญหากับสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ เช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชีย เห็นได้จากในช่วงเดือนเมษายน 2566 มีรายงานว่าที่ จ.ตาก มีอุณหภูมิสูงถึง 45.4 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับข้อมูลอุณหภูมิของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนเมษายน ปี 2023 ก็สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตปี 1990-2020 (รูปขวา) ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลง ทำให้ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงกับปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
ภาคเกษตรมีความเสี่ยงจากปัญหา Climate Risk แค่ไหน?
ภาคเกษตรเป็น Sector ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากปัญหา Climate Risk ชัดเจนกว่า Sector อื่น เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้น้ำมากที่สุด เมื่อเทียบกับ Sector อื่นๆ โดยภาคเกษตรใช้น้ำคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 77% ของการใช้น้ำในแต่ละปีของไทย ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำในแต่ละปีของไทยอยู่ที่ราว 147,747 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น การใช้น้ำสำหรับภาคเกษตรที่ 113,961 ล้าน ลบ.ม. (สัดส่วน 77% ของการใช้น้ำทั้งหมด) รองลงไปคือ การใช้เพื่อระบบนิเวศ 27,090 ล้าน ลบ.ม. (19%) การใช้เพื่อการท่องเที่ยวและอุปโภคบริโภคที่ราว 4,783 ล้าน ลบ.ม. (3%) และใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ราวปีละ 1,913 ล้าน ลบ.ม. (1%) โดยผู้เล่นในภาคเกษตรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้มีข้อจำกัดในการปรับตัวด้านการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกของไทยอยู่นอกพื้นที่ชลประทานถึง 78% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรมมากที่สุด
ในระยะข้างหน้า ปัญหา Climate Risk จะสร้างความเสี่ยง ต่อภาคเกษตรไทยในมิติใดบ้าง?
Climate Risk มีแนวโน้มจะสร้างความเสี่ยงต่อภาคเกษตรไทยใน 2 มิติหลัก คือ 1) ความเสี่ยงจากผลกระทบทางกายภาพ (Physical risk) 2) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านต่อระบบเศรษฐกิจ (Transition risk) โดยหากอ้างอิงจากบทความของ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ Climate Risks and Opportunities Defined พบว่าผลกระทบจากปัญหา Climate Change จะก่อให้เกิดความเสี่ยงใน 2 มิติ คือ 1) ความเสี่ยงด้าน Physical risk เช่น การเกิดภัยแล้งที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และ2) ความเสี่ยงด้าน Transition risk เช่น ความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยในตลาดส่งออก จากการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า รวมทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
Krungthai COMPASS มองว่า ความเสี่ยงจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เสียหายจากปัญหาภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และความเสี่ยงจากนโยบายและกฎระเบียบทางการค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จะเป็นความเสี่ยงที่จะเห็นได้ชัดและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยชัดเจนขึ้นในระยะ 1-2 ปีนี้ ดังนั้น ในบทความส่วนถัดไปนจะประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าว เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เตรียมปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ
ความเสี่ยง จากความเสียหายต่อผลผลิตสินค้าเกษตรไทย
ปัญหา Climate risk ที่เห็นชัดเจนมากขึ้น คือ ภาวะเอลนีโญที่เกิดถี่ขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยแล้ง และสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรไทย โดยก่อนที่จะเกิดเอลนีโญกำลังแรงในปี 2558-2559 นั้น ได้เกิดเอลนีโญในช่วงก่อนหน้า คือ ปี 2552-2553 หรือทิ้งช่วงประมาณ 5 ปี แต่หลังจากปี 2559 เกิดเอลนีโญอีกครั้ง คือ ปี 2562-2563 และ 2566-2567 หรือเกิดถี่ขึ้นเป็นทุก 3 ปี ปัจจัยได้กล่าวส่งผลทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรเสียหาย โดยในปี 2558 และ 2562 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวราว 5.7%YoY และ 4.7%YoY ตามลำดับ ดังนั้นภาวะเอลนีโญที่มีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นจะยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
เอลนีโญในรอบนี้จะสร้างความภาคเสียหายต่อเกษตรไทยแค่ไหน?
ปรากฎการณ์เอลนีโญที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 และจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในการเพาะปลูก โดย ณ 19 ก.ค. 2566 ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ โดยรวมทั้งประเทศอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะภาคกลาง และภาคตะวันตก ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง สถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญอย่างข้าวนาปีที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงปลายปี 2566 รวมทั้งข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลังที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่าข้าว จะได้รับความเสียหายเป็นหลัก เนื่องจากภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรุนแรงเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง อีกทั้งเป็นพืชที่ทนแล้งได้น้อยกว่าอ้อย และมันสำปะหลัง
ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญจะได้รับผลกระทบแค่ไหน?
เอลนีโญในรอบนี้คาดว่าจะทำให้ 3 พืชในภาคเกษตรกรรมสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลังได้รับความเสียหายรวมกันอยู่ที่ราว 16,000-126,000 ล้านบาท โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์เอลนีโญซึ่งมีสมมติฐานในแต่ละกรณีดังนี้
- กรณีที่ 1 Base Case : ภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 ไปจนถึงกลางปี 2567 โดยผลผลิตข้าวนาปี อ้อย และมันสำปะหลัง คาดว่าจะได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 และจะทวีความรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าว อ้อยและมันสำปะหลังจะได้รับความเสียหายพอสมควร จากปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดต่ำ
ลงมาก ส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหายรวม 53,215 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุดประมาณ 3.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายราว 28,422 ล้านบาท 2) อ้อยได้รับความเสียหายประมาณ 15.8 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายราว 16,906 ล้านบาท และ 3) มันสำปะหลังได้รับความเสียหายประมาณ 2.9 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 6,931 ล้านบาท
- กรณีที่ 2 Best Case : ภาวะฝนทิ้งช่วงกินเวลาไม่นาน ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 และจะคลี่คลายภายในต้นปี 2567 ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ผลผลิตข้าวนาปี อ้อย และมันสำปะหลัง ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนยังมีเพียงพอ ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยและมันสำปะหลังจะได้รับผลกระทบน้อย เพราะเอลนีโญอ่อนกำลังลง ส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหายรวม 16,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุดประมาณ 0.4 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายราว 3,594 ล้านบาท 2) อ้อยได้รับความเสียหายประมาณ 5.8 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายราว 6,206 ล้านบาท และ 3) มันสำปะหลังได้รับความเสียหายประมาณ 2.6 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 6,196 ล้านบาท
- กรณีที่ 3 Worse Case : ภาวะฝนทิ้งช่วงลากยาวตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 ไปจนถึงปลายปี 2567 โดยผลผลิตข้าวนาปี อ้อย และมันสำปะหลัง จะได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายปี 2566 ประกอบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยและมันสำปะหลังจะได้รับความเสียหายพอสมควร จากปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดต่ำลงมาก นอกจากนี้ ยังสร้างความเสียหายต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2567 ซึ่งเป็นผลผลิตข้าวส่วนใหญ่คิดเป็นกว่า 80% ของผลผลิตข้าวรวมทั้งปี ส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหายรวม 126,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุดประมาณ 7.5 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายราว 67,484 ล้านบาท 2) อ้อยได้รับความเสียหายประมาณ 25.8 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายราว 27,606 ล้านบาท และ 3) มันสำปะหลังได้รับความเสียหายประมาณ 12.8 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 30,592 ล้านบาท
Krungthai COMPASS มองว่า ความเสียหายในกรณีที่ 1 มีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากสมมติฐานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการคาดการณ์ของ Columbia Climate School ที่คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ไทยมีความเสี่ยงที่จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ รวมทั้งสอดคล้องกับการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งของ กรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดว่า จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2566 ไปจนถึงกลางปี 2567 ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567
เมื่อผลผลิตข้าวมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดแล้วธุรกิจโรงสีจะได้รับผลกระทบอย่างไร?
ความสามารถในการทำกำไรของโรงสีมีแนวโน้มจะลดลงจากภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย ทำให้อุปทานข้าวในตลาดมีจำกัด ส่งผลให้โรงสีมีต้นทุนรับซื้อของข้าวเปลือกจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น แต่ราคาขายส่งข้าวสารที่โรงสีขายกลับปรับเพิ่มได้ไม่มากนัก เนื่องจากถูกกดดันจากการแข่งขันในตลาดส่งออก เพราะข้าวไทยยังมีต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย และแม้ผลผลิตข้าวประเทศคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวของไทยอย่างเวียดนาม จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน แต่อาจน้อยกว่าไทย เนื่องจากสายพันธุ์ข้าวของเวียดนามให้ผลผลิตมากกว่าและพึ่งพาการใช้น้ำน้อยกว่าข้าวไทย โดยในปี 2567 (ปีที่คาดว่าจะเกิดเอลนีโญรุนแรง) คาดว่าวัตถุดิบข้าวเปลือกที่ป้อนเข้าสู่โรงสีจะลดลงราว 8.6% ตามปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกที่ลดลงทั้งประเทศ อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนรับซื้อข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้น 10.3% จาก 8,984 บาทต่อตัน ในปี 2565 เป็น 9,910 บาทต่อตัน ในปี 2567 ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารจะเพิ่มขึ้นเพียง 10.1% จาก 13,715 บาทต่อตัน ในปี 2565 เป็น 15,094 บาทต่อตันในปี 2567 และหากกำหนดให้ต้นทุนอื่น เช่น ค่าไฟและค่าขนส่งจะปรับลดลงตามต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนค่าแรงเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ค่าหยงคงที่ โดยเมื่อพิจารณาจากตัวอย่างผู้ประกอบการที่เป็นโรงสีรายใหญ่ซึ่งมีกำลังการผลิตข้าว 1,000 ตันข้าวเปลือก/วัน คาดว่าในปี 2567 โรงสีดังกล่าวจะมีอัตรากำไรเหลือ 2.6% จาก 3.0% ในปี 2565 (ปีปกติที่ยังไม่เกิดเอลนีโญ) อย่างไรก็ตามยังเป็นอัตรากำไรที่สูงกว่าในช่วงปี 2558-2559 ที่เกิดเอลนีโญรุนแรง ซึ่งทำให้ในปีดังกล่าวโรงสีมีอัตรากำไรเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1.6%
ความเสี่ยงในมิติด้านกฎระเบียบทางการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น
กฎระเบียบของคู่ค้าด้านสิ่งแวดล้อมในตลาดส่งออกที่เข้มงวดขึ้น จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะ EU และ US ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น เช่น นโยบาย Farm to Fork ของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงยุโรปสีเขียว (European Green Deal) ที่ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยตั้งเป้าว่าจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 นอกจากนั้น ยังมีมาตรการที่ในอนาคตมีโอกาสขยายวงมาสู่ธุรกิจเกษตรและอาหารได้ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ของ EU ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566
โดยแม้ในระยะแรก จะมีเพียงสินค้าประเภท ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก อลูมิเนียม และไฮโดรเจนเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าที่กล่าวมาข้างต้นมีโอกาสถูกเรียกเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราราว 52-137 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอน-ไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2) ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและประเทศปลายทางแต่ในระยะต่อไปคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ EU จะขยายมาตรการให้ครอบคลุมไปถึงสินค้าประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
Krungthai COMPASS แนะนำ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคเกษตรดังต่อไปนี้
ธุรกิจเกษตรแปรรูป
- ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรับมือกับความผันผวนของต้นทุนสินค้าเกษตร เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกร ก็จะช่วยลดแรงกดดันด้านต้นทุน ในช่วงที่ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น
- ควรร่วมมือกับเกษตรกรในการประยุกต์ใช้ Climate Tech เพื่อช่วยบริหารจัดการและติดตามข้อมูลสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ เช่น กลุ่มบริษัทมิตรผล ที่ร่วมมือกับเกษตรกรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้นที่ ทำให้ผลผลิตอ้อยสูงขึ้นเฉลี่ยจาก 7-8 ตันต่อไร่ เป็น 10-15 ตันต่อไร่
- ควรศึกษาและติดตามกฎระเบียบการค้า เนื่องจากกฎระเบียบการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมีการยกระดับอยู่เสมอและมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น รวมถึงมีโอกาสขยายขอบเขตไปยังสินค้ากลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ปรับตัวไม่ทัน
เกษตรกร
- ควรประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการเพาะปลูกสมัยใหม่ที่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าเดิม เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง ที่ช่วยลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกได้ถึง 15% อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนพลังงานในการสูบน้ำเข้าแปลงนาข้าว และยังมีส่วนช่วยให้ต้นข้าวมีประสิทธิภาพต้านทานต่อโรคและแมลงมากขึ้น นอกจากนั้นยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการเพาะปลูกข้าวอีกด้วย
- ควรปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดต้นทุน เช่น การวิเคราะห์ดินเพื่อให้ใช้ปุ๋ยได้ตรงกับลักษณะดิน ทำสามารถให้ลดอัตราการใช้ปุ๋ยได้ถึง 50-60 กิโลกรัม/ไร่ รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการเพาะปลูก
ภาครัฐ
- ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนบริการจัดการน้ำ โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่นอกชลประทานซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งค่อนข้างมาก โดยผ่านมาการลงทุนในการบริหารจัดการน้ำในภาคเกษตรของไทยยังค่อนข้างน้อย อยู่ที่เพียง 0.4% ของ GDP เทียบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติซึ่งควรอยู่ที่ 1-2% ของ GDP นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนในการบริหารจัดการน้ำส่วนใหญ่ของไทยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เขตชลประทานเป็นหลัก ส่วนพื้นที่นอกชลประทานยังลงทุนค่อนข้างน้อย
- สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช และปศุสัตว์ ที่ทนแล้ง รวมทั้งสภาพอากาศที่มีแนวโน้มแปรปรวนมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้น้ำในเพาะปลูก ส่งผลให้การใช้น้ำในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น