สิงคโปร์เอี่ยวปานามาเปเปอร์โดนหนัก
เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงของสิงคโปร์แถลงว่า กำลังพิจารณาตรวจสอบข้อมูลที่รั่วไหลล่าสุดของปานามา เปเปอร์ และหากพบว่าบริษัทหรือบุคคลใดมีชื่อเกี่ยวข้องเป็นผู้กระทำความผิดจะถูกจับกุมมาดำเนินคดีทันที
คำแถลงการณ์ร่วมระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารกลางสิงคโปร์มีขึ้นหลังจากเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยแพร่ข้อมูลว่ามีการเปิดบริษัทลับในต่างประเทศกว่า 200,000 บริษัทโดยบรรดาเศรษฐีและคนดังทั่วโลก จุดประสงค์สำคัญคือเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีและฟอกเงิน
ทางไอซีไอเจได้อัพเดทข้อมูลออนไลน์ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อมูลในการทำงานเกือบ 40 ปีของบริษัทมอสแส็ค ฟอนเซกา ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายในประเทศปานามา ที่มีความชำนาญในการจัดตั้งและดำเนินงานบริษัทลับในต่างประเทศให้ลูกค้า โดยมีความเชื่อมโยงถึงบริษัทนับพันแห่งในสิงคโปร์ด้วย
โดยทั้งสองหน่วยงานสำคัญของภาครัฐประกาศว่า “กำลังมีการพิจารณาข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมาล่าสุด ทั้งรายชื่อบุคคลและบริษัทที่อยู่ในปานามา เปเปอร์ ถ้ามีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำความผิดจริงโดยบุคคลและนิติบุคคลใดในสิงคโปร์ จะไม่มีการละเว้นและจะถูกจับกุมมาสอบสวนเพื่อดำเนินคดีโดยทันที”
ข้อมูลอื้อฉาวจากปานามา เปเปอร์กลายเป็นข่าวพาดหัวที่โด่งดังไปทั่วโลก การเปิดเผยรายชื่อมหาเศรษฐี คนดัง และนักการเมืองในหลายประเทศ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในไอซ์แลนด์และยูเครน
อย่างไรก็ตาม ทางไอซีไอเจประกาศชัดเจนว่า บริษัทลับและกองทุนในต่างประเทศเหล่านี้ล้วนได้รับการจัดตั้งอย่างถูกกฎหมาย “เราไม่มีเจตนาจะชี้แนะหรือทำให้เชื่อได้ว่า บุคคลหรือบริษัทหรือกองทุนในข้อมูลนี้ได้ทำผิดกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม”
โดยรายชื่อขององค์กรในสิงคโปร์ที่ถูกเอ่ยถึงในปานามา เปเปอร์ มีกองทุนโอซีบีซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารแห่งสิงคโปร์รวมอยู่ด้วย
นางสาวโค ชิงชิง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของธนาคารโอซีบีซีเน้นว่า ธนาคารแห่งสิงคโปร์ได้มีการควบคุมการปฏิบัติตัวอย่างเข้มงวดเพื่อให้ถูกต้องตามกฎระเบียบทั้งภายในองค์กรและทางหน่วยงานที่กำกับดูแล รวมถึงการต่อต้านการฟอกเงินและการหลบเลี่ยงภาษี ก่อนที่จะให้การดูแลลูกค้า
ข้อมูลที่รั่วออกมายังพาดพิงถึงธนาคารดีบีเอส ซึ่งได้ให้โฆษกของธนาคารมาชี้แจงว่า “ด้วยการอ้างถึงโครงสร้างของบริษัทและกองทุนในต่างประเทศ กฎหมายบังคับให้ทางธนาคารต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อเอิ้อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าของและทางธนาคารไม่เคยสนับสนุนให้มีการใช้วิธีการในการปกปิดใดๆ”
รายชื่อล่าสุดที่ถูกเปิดเผยในปานามา เปเปอร์คือนายหว่อง ฟงฟุย ซีอีโอของบริษัทบูสเตด
โดยนายคีธ ชู รองประธานฝ่ายการตลาดและนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทบูสเตดกล่าวว่า นายหว่องเป็นประธานของทั้ง 2 บริษัทที่ตั้งขึ้นในต่างประเทศเมื่อหลายปีก่อน “ทั้ง 2 บริษัทถูกเปิดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติในการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างถูกกฎหมาย และแผนจัดการในการจ่ายภาษีที่มีบริการให้คำแนะนำ โดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในด้านนี้”