หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ดับฝัน อภิสิทธิ์ คัมแบ็ก
การประชุมใหญ่วิสามัญ ประจำปี 2566 ของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้จะได้เห็นหัวหน้าพรรคคนใหม่หรือหน้าเดิม
เสียงเชียร์จากแฟนคลับ-แม่ยกของ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 ให้ “คัมแบ็ก” กู้วิกฤตพรรคประชาธิปัตย์ที่ตกต่ำสุดขีด-ดังสุดเสียง
ศึกเลือกตั้ง 62 ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่ากันว่าพ่ายแพ้หมดรูป เพราะได้ ส.ส.เพียง 52 ที่นั่ง-กรุงเทพฯสูญพันธุ์ แต่การเลือกตั้ง 66 กลับพ่ายแพ้ย่อยยับมากที่สุด เพราะได้ ส.ส.เพียง 25 ที่นั่ง
ภาคใต้ที่หมายมั่นว่าจะทวงคืนปักษ์ใต้ 40 ที่นั่ง แต่ติดไม้ติดมือไม่ได้เพียง 17 ที่นั่ง ทว่าการกลับมาของนายอภิสิทธิ์ กองเชียร์อาจจะยากพอกับการเข็นครกขั้นภูเขา เพราะต้องผ่านด่านโหวตเตอรที่เป็นองค์ประชุมของพรรค โดยเฉพาะ ส.ส.ปัจจุบัน ที่เป็น “ขุมอำนาจใหม่” สวนทางกับ ส.ส.กลุ่ม “เพื่อนมาร์ค” ที่พาเหรดกันสอบตก
สำหรับองค์ประชุมใหญ่ในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ มีทั้งหมด 374 คน ประกอบด้วย 1.กก.บห.ชุดรักษาการ สมาชิกที่เคยเป็นหัวหน้าหรือเลขาธิการพรรค 1 คน 2.ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน 3.อดีต ส.ส. 85 คน 4.สมาชิกที่เป็นรัฐมนตรี 2 คน 5.อดีตรัฐมนตรี 19 คน 6.สมาชิกที่เป็น นายก อบจ. ที่พรรคส่งลงสมัคร 1 คน 7.สมาชิก อบจ. 1 คน 8. สมาชิกพรรคต่างจังหวัดมีสาขาพรรค 20 คน 9.ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 172 คน และ 10.อื่น ๆ 20 คน
อย่างไรก็ตามองค์ประชุมมีน้ำหนักในการลงคะแนนไม่เท่ากัน โดยโหวตเตอร์ที่เป็น ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน มีน้ำหนักมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โหวตเตอร์ที่เหลือมีน้ำหนักเพียง 30 %
ดังนั้น ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน จึงเป็นโหวตเตอรที่จะชี้ขาด-ชี้ชะตาว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 จะเป็นใคร การเลือกตั้ง 66 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.25 คน แบ่งออกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐานส.ส.เขต 22 คน ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช 6 คน ได้แก่ เขต 1 นายราชิต สุดพุ่ม นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ว่าที่ ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ นายชัยชนะ เดชเดโช และ นางอวยศรี เชาวลิต
พัทลุง 2 คน ได้แก่ นางสุพัชรี ธรรมเพชร และนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ตรัง 2 คน ได้แก่ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ และนายกาญจน์ ตั้งปอง ปัตตานี 1 คน คือ นายยูนัยดี วาบาสงขลา 6 คน ได้แก่ นายสรรเพชร บุญญามณี นายสมยศ พลายด้วง นายเดชอิศม์ ขาวทอง น.ส.สุภาพร กำเนิดผล พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ และนายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง
เมื่อกางข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อบังคับพรรคในการเลือกหัวหน้าพรรค ข้อ 32 (1) ในการเสนอชื่อผู้เป็นหัวหน้าพรรคต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่อยู่ในที่ประชุม และหัวหน้าพรรคต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรคข้อ 31 (3) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส.ในนามพรรคเว้นแต่ได้รับการยกเว้นตามข้อบังคับพรรคข้อ 31 (6) คือสมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค
ด้านข้อบังคับพรรคในการเลือกกก.บห.พรรค อยู่ที่ข้อที่ 31 ระบุว่า สมาชิกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้งเว้นแต่สมาชิกที่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1.เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริหารพรรค 2.เป็นหรือเคยเป็นคณะกรรมการสาขาพรรค 3.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในนามพรรค 4.เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรีในนามพรรค 5.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง และ 6.สมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ส่วนแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 นาทีนี้มีเพียง “เสี่ยจ้อน” นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 4 สมัย-อดีตส.ส.เพชรบุรีและส.ส.บัญชีรายชื่อ6สมัย ที่ขอเป็นผู้ท้าชิงอีกหน หลังจากต้องอกหักแพ้ให้กับนายอภิสิทธิ์ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเมื่อปี 62
ขณะที่ชื่อแคนดิเดตคนอื่นๆ ที่ถูกปล่อยออกมา แต่ไม่เคยออกมาจากปากของเจ้าตัวเอง คือ นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ “นายกชาย” ส.ส.สงขลา 2 สมัย – รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบภาคใต้น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ “มาดามเดียร์” ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 11 พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับบทเป็น “เจ้าแม่กทม.” ในฐานะเป็นประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้ง 66 แต่ก็ยังไม่ฟื้น“มาดามเดียร์” สะใภ้เจ้าของสื่อยักษ์ค่ายบางนา “หญิงนักบริหาร” มากความสามารถรอบตัว ดีกรีเป็นถึงอดีตผู้จัดการทีมชาติฟุตบอลไทยอายุไม่เกิน 23 ปี และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
“ดร.บิล” นายอิสระ เสรีวัฒนรักษ์” รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สายตรง “ชวน หลีกภัย” ในฐานะที่ปรึกษารัฐสภา เป็น “มวยแทน” สวมหมวกประธานกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย“กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกจากหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า หลังจากทำผลงานได้ “ต่ำสิบ” หลุดกรอบเป้าหมายในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา
นายกรณ์ เคยลงสมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องแพ้คะแนน “จุรินทร์” จึงต้องจับตาดูว่าจะถูกทาบทามให้มา “แก้มือ” ชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหรือไม่นอกจากนี้ยังมีชื่อของ นางนวลพรรณ ล่ำซำ หรือ “ มาดามแป้ง” กรรมการผู้จัดการ-ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลูกสาวนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ กรรมการสภาที่ปรึกษาประชาธิปัตย์ อดีตรมช.พาณิชย์ รัฐบาลชวน 2
“มาดามแป้ง” มีชื่อทุกครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการคนมากู้วิกฤตศรัทธาพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการควานหาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9ทายาทตะกูลล่ำซำ รุ่นที่ 5 เคยมีชื่อถูกส่งลงสนามเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ครั้งที่ผ่านมา แต่ก็เงียบหายไม่ปรากฎตัวเป็น ๆ กระทั่งรอยยิ้ม แม้พรรคประชาธิปัตย์ต้องประสบกับภัยการเมือง
ด้วยองค์ประกอบทางการเมือง-องค์ประชุมของโหวตเตอร์ในการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ดูจะเข้าทาง “เดชอิศม์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่กุมเสียง ส.ส.ภาคใต้ไว้ถึง 17 ชีวิตนายเดชอิศม์ มีโปรไฟล์การเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะระดับท้องถิ่นไม่ธรรรมดา เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ คุมเลือกตั้ง 66 กวาดเก้าอี้ ส.ส.ภาคใต้ได้ถึง 17 ที่นั่ง
เป็นอดีตนายก อบจ. สงขลา 2 สมัย อดีตนายกสมาคมกีฬา จังหวัดสงขลา อดีตนายกสมาคมมวยอาชีพภาคใต้ อดีตนายกสมาคมชนโคไทยการเลือกตั้งปี 62 นายเดชอิศม์ เป็น ส.ส.สงขลา ในสีเสื้อพรรคสีฟ้าสมัยแรก แต่ไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจากการเลือกตั้งปี 48 ลงสมัคร ส.ส.สงขลา พรรคไทยรักไทย แต่สอบตก
นายเดชอิศม์ ขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ แบบก้าวกระโดดด ด้วยการล้มนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช 9 สมัย ที่อยู่ในช่วงขาลง ด้วยคะแนน 58.9 เปอร์เซ็นต์ ชนะนายชินวรณ์ ที่ได้คะแนน 39.4 เปอร์เซ็นต์
นายเดชอิศม์พิสูจน์ฝีมือให้เห็นว่า การกุมบังเหียนลงสมรภูมิรบแดนสะตอไม่เป็นรองใคร ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อม สามารถนำทัพประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งซ่อม จังหวัดชุมพร เขต 1 และ จังหวัดสงขลา เขต 6
แต่การเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีอะไรแน่นอน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 คนที่เห็นอาจจะไม่ใช่ คนที่ใช่อาจจะยังไม่เห็น