เกษตรกรไทยมีความสุขดัชนีพุ่ง 80.46
โฆษกรัฐบาลเผย ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรปี 2565 อยู่ในระดับดีทุกภาค สะท้อนความพยายามของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ซึ่งจะได้นำผลการศึกษามาพัฒนาการทำงานเพื่อเกษตรกร
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานดัชนีความผาสุกของเกษตรกรระดับประเทศ ในปี 2565 อยู่ที่ระดับ 80.46 การพัฒนาอยู่ในระดับดีทุกภาค ทั้งนี้ ผลการศึกษาสะท้อนถึงปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยรัฐบาลจะนำไปปรับปรุงกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทย ซึ่งดำเนินการจัดทำเป็นประจำทุกปี เพื่อสะท้อนถึงปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย ผ่านการศึกษาภาพรวมใน 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยดัชนีความผาสุกของเกษตรกรระดับประเทศ ในปี 2565 มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.46 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีทุกภาค โดยภาคกลางมีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 81.82 รองลงมา คือ ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 81.57 ภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 80.96 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 80.08
สำหรับรายละเอียดด้านต่าง ๆ ของดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ปี 2565 มีดังนี้
1) ดัชนีด้านสุขอนามัย อยู่ที่ระดับ 99.85 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ทำให้ครัวเรือนเกษตรให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น รวมถึงภาครัฐได้มีการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัย และให้ความรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
2) ดัชนีด้านสังคม อยู่ที่ระดับ 91.06 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก โดยพบว่าสมาชิกในครอบครัวมีการดูแลซึ่งกันและกัน และภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัว สร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการ และส่งเสริมการปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว
3) ดัชนีด้านเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 78.26 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรและแรงงานเกษตรพบว่า รายได้เงินสดสุทธิของครัวเรือนเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีรายได้เงินสดจากนอกภาคเกษตรมากกว่ารายได้เงินสดทางการเกษตร 2.7 เท่า
4) ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ระดับ 62.67 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง โดยพบว่าปี 2565 มีพื้นที่ได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรดิน 1.76 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 2.02 ล้านไร่ ขณะที่สัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลดลงเช่นกัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง
5) ดัชนีด้านการศึกษา อยู่ที่ระดับ 50.39 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข เป็นผลมาจากสมาชิกครัวเรือนเกษตรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สูงถึงร้อยละ 24.71 ได้รับการศึกษาภาคบังคับหรือต่ำกว่าภาคบังคับ โดยค่าดัชนีของทุกภาคสะท้อนถึงการพัฒนาที่อยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร และเกษตรกรทุกคน ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นายกรัฐมนตรีจึงมุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ผ่านมาตรการสำคัญในช่วงที่ผ่านมา อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร การพัฒนาช่องทางการตลาดที่หลากหลาย การบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพเกษตรกร” นายอนุชาฯ กล่าว