สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 มิ.ย.66 เวลา 7.00น.
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ปราจีนบุรี (100) จ.สิงห์บุรี (63) จ.เพชรบุรี (51) จ.น่าน (48) จ.สงขลา (44) และ จ.บุรีรัมย์ (37)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,031 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,890 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นแม่น้ำบางปะกง ค่าออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำทับรั้งพร้อมระบบสงน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ต.หนองแวง และ ต.สำนักตะคร้อ อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมาสามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และการปศุสัตว์สนับสนุนพื้นที่ 4,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 430 ครัวเรือน
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ไม่พบพื้นที่เสี่ยง
สทนช. เร่งดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ พร้อมแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 ประชุมพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ต.วังขึ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 66 ด้วยประชาชนขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยต้นหนุนพร้อมระบบสงน้ำบ้านวังแฟน ต.วังชิ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่ โดยกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงแนวทางและขั้นตอน การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ผ่านระบบ Thai Water Plan เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของชุมชนมีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบต่อไป
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 3 ติดตามการดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ โดยพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและติดลำน้ำพรม ทั้งนี้ ได้มีการวางแผนการเพาะปลูกพืชและการบริหารจัดการน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ ในปีถัดไป เนื่องจากเข้าสู่สภาวะเอลนิโญที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนน้อยและเกิดฝนทิ้งช่วง นอกจากนี้ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชนในการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนนี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวง เตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 11 จังหวัด (กำแพงเพชร สุโขทัย นครราชสีมา อุทัยธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สระแก้ว เพชรบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์) และเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง (อ่างเก็บน้ำคลองน้ำไหล อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบนอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำวชิราลงกรณ อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำปราณบุรี)
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยประกอบกับในช่วงวันที่ 26 – 29 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 นำเสนอร่างผังน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ณ หอประชุมอำเภออรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 75 คน เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำลุ่มน้ำโตนเลสาบ ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำกลับไปปรับปรุงผังน้ำให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์ต่อไป ซึ่งผังน้ำเป็นการนำเสนอชุดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในรูปของแผนที่หรือแผนผังที่แสดงระบบทางน้ำซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทางออก โดยผังน้ำจะครอบคลุมไปถึงแหล่งน้ำ ทางน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีหรือบางช่วงเวลาก็ได้ เมื่อการจัดทำผังน้ำแล้วเสร็จ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้ทราบว่าตนเองอยู่ในจุดเสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ คณะกรรมการลุ่มน้ำมีข้อมูลประกอบในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดวางโครงการเพื่อการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง/น้ำท่วม ตลอดจนการอนุมัติ/อนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่จะไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือกีดขวางการไหลของน้ำ อีกทั้งผังน้ำดังกล่าว จะนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนด การใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อไปได้