สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 พ.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น และลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.สิงห์บุรี (127 มม.) จ.พะเยา (118 มม.) และ จ.ยะลา (108 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 16,941 ล้าน ลบ.ม. (35%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 21,019 ล้าน ลบ.ม. (35%)คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศ กอนช. ฉบับที่ 3/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2566 ในพื้นที่ ดังนี้ภาคเหนือ จ.และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ยโสธร หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เกิดน้ำนองระบายไม่ทัน เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ครม. เห็นชอบ 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการให้เป็นรูปธรรมเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบด้วยมาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง (มี.ค. 2566 เป็นต้นไป) มาตรการที่ 2 บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในสิงหาคม 2566) มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ ในแหล่งน้ำ/เขื่อนระบายน้ำและจัดทำ แผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 4 เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ
(ก่อนฤดูฝน และตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 5 เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 6 ตรวจความมั่นคงปลอดภัย คัน ทำนบ และพนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน และตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 7 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ของทางน้ำ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่ สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 9 เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2566)มาตรการที่ 10 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 11 การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน) มาตรการที่ 12 ติดตาม ประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)นายกรัฐมนตรี ยังได้มีข้อสั่งการให้ประชาสัมพันธ์การเตรียมการระมัดระวังและแจ้งเตือนประชาชนด้วย ทั้งนี้ ขอความร่วมประชาชน ไม่ทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ดังนี้
ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรักษาระบบประปาบาดาล ภายใต้ “โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564” จำนวน 3 แห่ง บริเวณ บ้านหนองปลากระดี่ และบ้านหุบตาอ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และบ้านสี่กั๊ก อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมบ่อน้ำบาดาลและระบบประปาบาดาลให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ขจัดปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดของพี่น้องประชาชนตลอดฤดูร้อน
1.2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำเดิม เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับระบบประปาชุมชน เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 85 ราษฎรผู้รับประโยชน์ 135 ครัวเรือน จำนวน 665 คน ณ บ้านนาไคร้ หมู่ 7 ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 10 – 15 พ.ค. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน และคาดว่าจะเคลื่อนเข้าอ่าวเบงกอลตอนบน ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ้มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 66 โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 21,019 ล้าน ลบ.ม. (36%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 16,917 ล้าน ลบ.ม. (35%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,357 ล้าน ลบ.ม. (46%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,745 ล้าน ลบ.ม. (34%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 6,100 ล้าน ลบ.ม. (34%)
ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ค. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 16,849 ล้าน ลบ.ม. (36%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 15,701 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,057 ล้าน ลบ.ม. (7%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 469 ล้าน ลบ.ม. (9%)