NEC ฉลุยไตรมาสแรกยอดลงทุนพุ่ง8พันล้านบาท
ดันระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ จุดหมายใหม่การลงทุน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบแผนการส่งเสริมนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC-Creative LANNA) จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ โดยในไตรมาสแรกมีการลงทุนแล้ว 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 8,116 ล้านบาท และส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและแปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล
“นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความสำเร็จแผนการส่งเสริมนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ซึ่งเพียงไตรมาสแรกของปี 2566 ก็มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ถึง 20 โครงการ มูลค่าการลงทุน กว่า 8 พันล้านบาท ในอนาคตคาดการณ์ว่าผ่านการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) จะมีมูลค่าการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน”
สำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง โดยพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือเป็นหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ใน 4 ภาค ที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564 เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ
โดยผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจากภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ธุรกิจ BCG อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การสร้างเมืองนวัตกรรม แหล่งรวมสตาร์ตอัป และกลุ่ม Digital Nomad อีกทั้งมีย่านนวัตกรรมการแพทย์ มีคลัสเตอร์หลักของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และต้นแบบเศรษฐกิจชีวภาพ
นอกจากนี้ภาคเหนือยังมีความโดดเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม งานหัตถกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งเกษตรและอาหารที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งการคมนาคมยังสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านระบบโครงข่ายเส้นทางคมนาคม รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งเส้นทางแม่นํ้าโขงออกไปมณฑลยูนนาน และมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้เกิดโอกาสทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น