ไอแบงก์สู้ยิบตา ดันสินเชื่อโต 6 พันล้านไม่กลัวหนี้เน่า
ธนาคารอิสลาม หรือไอแบงก์ ยังคงมีภาระที่หนักอึ่ง แม้จะตัดหนี้เน่า จำนวน 50,000 ล้านบาท
ไปจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เรียก “บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” หรือ IAM แล้วก็ตาม แต่หนี้เอ็นพีแอลก็ยังอยู่ระดับสูง 13,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 62,000 ล้านบาท
“ยอมรับว่า เอ็มพีแอลของไอแบงก์ยังอยู่ในระดับสูง 20% แต่ปีนี้ เราจะมีการบริหารจัดการโดยเข้าไปแก้ไขหนี้ให้ได้ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่ติดค้างมาหลายปีแล้ว หากทำได้สำเร็จ หนี้ของเราจะอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท” นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) แถลงข่าวเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้ามาบริหารธนาคารแห่งนี้ได้ 3 เดือนแล้ว
ทั้งนี้ การลดเอ็นพีแอลไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้ด้วยการแก้ไขหนี้ พร้อมๆ กับเพิ่มยอดสินเชื่อ ซึ่งทั้ง 2 วิธีการนี้ จะเป็นตัวเปิดเกมใหม่ของไอแบงก์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นปีนี้ 6,000 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% และลดหนี้เอ็มพีแอลงลง 5,000 ล้านบาท ก็จะช่วยทำให้สัดส่วนกอง ทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารดีขึ้น
“ปัจจุบันไอแบงก์ ปล่อยสินเชื่อในแก่คนไทยที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม 50% แล้วอีก 50% เป็นสินเชื่อของชาวมุสลิม ดังนั้น หากเรารู้และเข้าใจว่า ธนาคารแห่งนี้ เป็นธนาคารที่ดำเนินโยบายตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว ก็ควรต้องสัดส่วนสินเชื่อชาวมุสลิมให้มากขึ้นโดยเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนใต้ จากเดิมมี 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ต้องเพิ่มเติมอีก 2 จังหวัดคือสงขลาและสตูล ซึ่งลูกค้ากลุ่มมีอยู่ประมาณ 2.5 ล้านคน”
กรรมการและผู้จัดการ ไอแบงก์ กล่าวว่า สินเชื่อที่จะเป็นตัวเร่งเพื่อเพิ่มยอดสินเชื่อได้มากที่สุดคือ สินเชื่อเพื่อเชิงพาณิชย์ และสินเชื่อเอสเอ็มอีซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้จะปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติตามฮาลาลก็ตาม แต่ถ้าฮาลาลได้จะมีดีที่สุด
ขณะที่ การแก้ไขหนี้เอ็นพีแอลนั้น นายทวีลาภ ยอมรับว่า เป็นตัวถ่วงที่น้ำหนักมากที่สุดของไอแบงก์ เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารเคยมีเอ็นพีแอลสูงถึง 50% และต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการมาแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตัดหนี้ออกไป 50,000 ล้านบาท โดยให้ IAM ดูแลนั้น แต่ปัจจุบันเอ็นพีแอล ก็ยังคงอยู่ในระดับ 20% นับว่า สูงที่สุดในจำนวนธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ลูกหนี้มีปัญหามากขึ้น และอีกส่วนหนึ่ง เป็นหนี้ที่ตกชั้นเพิ่มเติมเนื่องจากโอนไป IAM ไม่ทัน
สำหรับผลดำเนินงานปีที่แล้ว เรามีกำไรเพียงเล็กน้อย แต่ก็คาดว่า ปีนี้ (2566) จะมีกำไรมากขึ้น โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อปีนี้ไว้ที่ 6,000 ล้านบาท มีฐานลูกค้า 1 ล้านราย และมีเงินฝาก 75,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในภาพรวมของตลาดการเงินอิสลามทั่วโลกในรายงานพัฒนาของระบบการเงินอิสลามในปี 65 ของ Refinitiv ผู้ให้บริการข้อมูลอัจฉริยะด้านการเงินและการจัดการความเสี่ยงแถวหน้าของโลกพบว่า ในปี 64 สินทรัพย์ของระบบการเงินอิสลามรวมทั่วโลกมีถึง 137 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ 17% และมีจำนวนสถาบันที่ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินรวมกว่า 1,650 พันแห่งทั่วโลก