รู้จัก “ฮีทสโตรก” ภัยเงียบคร่า “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์”
“ฮีทสโตรก” หรือ โรคลมแดด ภัยเงียบคร่า “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม”
ช็อตทั้งประเทศ เมื่อ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 01.15 น. ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จากโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ขณะซ้อมแข่งรถ
นพ.ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ถูกส่งตัวเข้ามารักษาด้วยอาการหมดสติ คาดว่าน่าจะเกิดอาการฮีทสโตรก เนื่องจากภาวะอากาศร้อนจัด
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีกรณีดังกล่าว ว่า สาเหตุการเสียชีวิต คือ ภาวะหัวใจวาย แต่ในรายละเอียดต้องให้แพทย์เป็นผู้แถลง ซึ่งทางแพทย์ได้ประคับประคองอาการอย่างใกล้ชิด จนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า ก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ซึ่งแพทย์ทำการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว
“ก่อนเกิดเหตุ นายชนม์สวัสดิ์ ได้ไปซ้อมแข่งรถที่สนามช้างฯ เมื่อซ้อมแข่งรถเสร็จพอลงจากรถมีอาการอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง คนใกล้ชิดจึงเรียกรถฉุกเฉินพาไปโรงพยาบาล เมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์ได้ดูแลทุกอย่างตามขั้นตอนอย่างเต็มที่ แต่ประคองอาการไว้ได้ถึงเที่ยงคืน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke)
สำหรับโรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นภาวะ ที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ ปวดศีรษะ หน้ามืด กระสับกระส่าย ซึม สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดด
เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี
ผู้สูงอายุ
หญิงตั้งครรภ์
ผู้ป่วยหรือผู้มีโรคประจำตัว
ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน
ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่น ติดสุรา ออกกำลังกลางแจ้ง
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรือ โรคอ้วน
การป้องกันฮีทสโตรก
สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลา ที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน
ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง
หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ซึ่งมีอันตรายมาก นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษ ที่มีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
ช่วยผู้เกิดภาวะฮีทสโตรก
ในกรณีที่พบเห็นผู้ที่เป็นโรคลมร้อน ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการนำตัวเข้ามาในที่ร่ม จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวและศีรษะ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด หากมีสติให้จิบน้ำ หากหมดสติให้ประเมินตามกระบวนการ ช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) แจ้ง 1669 และนำส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที
ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข