ญี่ปุ่นประท้วงเรียกร้องแก้กฎหมายข่มขืน
โตเกียว (รอยเตอร์) – เหยื่อความรุนแรงทางเพศและผู้ร่วมสนับสนุน เดินขบวนใน 9 เมือง ทั่วญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ เพื่อประท้วงศาลที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีข่มขืน และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายต่อต้านการข่มขืนของญี่ปุ่น
ในค่ำของวันที่ 11 มิ.ย. เหยื่อผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศต่างถือดอกไม้และใบปลิวที่มีคำปลุกใจอย่าง #MeToo และ #WithYou โดยแต่ละรายได้เล่าประสบการณ์ของตนเพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ต้องคัดค้านมาตรการปัจจุบันที่พวกเขาระบุว่า ได้สร้างภาระให้กับเหยื่อการข่มขืนมากเกินไป ทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะก้าวออกมาข้างหน้าเพื่อเปิดเผยเหตุการณ์และอาจส่งผลเสียต่อโอกาสทางกฎหมายอีกด้วย
มิสะ อิวาตะ ระบุว่า “ถ้าเรายืนยันจะพูดว่า ‘ไม่’ ต่อความรุนแรงทางเพศและเปล่งเสียงของพวกเราออกมา ฉันหวังว่ากฎหมายที่ไม่สมเหตุสมผลของญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอนค่ะ” เธอเล่าว่าเมื่อตอนเธออายุ 16 ปี เธอถูกกลุ่มผู้ชายรุมข่มขืน โดยเธอได้เล่าให้กับกลุ่มประชาชนหลายร้อยรายที่รวมตัวกันใกล้กับสถานีโตเกียวฟัง
อิวาตะ เป็นสมาชิกของกลุ่มสปริง หรือกลุ่มสำหรับเหยื่อความรุนแรงทางเพศ เสริมว่า “การจะเปล่งเสียงให้ดังขึ้นมันเป็นเรื่องน่ากลัว แต่การเปล่งเสียงของพวกเราให้ดังขึ้น ทั้งสังคมและการเมืองจะเปลี่ยนไปแน่นอนค่ะ”
สมาชิกสภานิติบัญญัติได้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนที่เก่าแก่และมีอายุราวร้อยปีเมื่อปี 2560 โดยในบรรดาการปรับปรุงได้มีการเปลี่ยนให้บทลงโทษรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกฎหมายในครั้งนั้น ยังคงเหลือข้อกำหนดเดิมสำหรับทางอัยการที่ก่อให้เกิดประเด็นทางสังคม ที่กฎหมายกำหนดว่า ต้องการพิสูจน์ให้ทราบว่ามีการใช้ความรุนแรงหรือการข่มขู่จริง หรือเหยื่อนั้น “ไม่สามารถขัดขืนได้”
การปล่อยตัวผู้กระทำผิดครั้งล่าสุด ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจเกี่ยวกับมาตรฐานกฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่า หากไม่มีการต่อสู้ขัดขืนตอบ ทำให้ทางอัยการไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่าเป็นการข่มขืน
เมื่อเดือน มี.ค.มีการตัดสินในศาลใจกลางเมืองนาโงยา โดยพ่อของเด็กสาววัย 19 ปี พ้นผิดจากข้อกล่าวหาข่มขืนลูกสาวของตนเอง โดยเหยื่อหลายรายและนักกิจกรรมต่างออกมาเรียกร้องและต้องการให้มีการเปลี่ยนกฎหมายครอบคลุมไปถึงเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการยินยอมทั้งหมด
มิกุ โยโกยามะ นักออกแบบ วัย 23 ปี ที่เข้าร่วมการประท้วงในวันที่ 11 มิ.ย.ระบุว่า “เหตุการณ์แบบนี้ยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าการตัดสินแบบนี้มันผิดน่ะค่ะ เรามารวมตัวกันในวันนี้ก็เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ค่ะ”
การประท้วงในโตเกียวถือเป็นหนึ่งในการประท้วงทั้งหมด 9 แห่ง ทั่วประเทศ นับตั้งแต่เมืองฟุกุโอกะทางตอนใต้ จนถึงเมืองซัปโปโรทางเหนือ และโอซาก้าทางตะวันตกของญี่ปุ่น โดยผู้จัดการประท้วงได้เริ่มการประท้วงรายเดือนนับตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
สื่อได้ยกคำพูดของมิโนริ คิตาฮาระ นักเขียนและนักกิจกรรมที่ขึ้นพูดให้ฝูงชนในฟุกุโอกะฟังว่า “เสียงของคนที่บอกว่า ‘เราจะเก็บเงียบต่อไปไม่ได้’ กำลังแผ่ขยายไปทั่ว” โดยในฟุกุโอกะ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีคดีหนึ่งที่ผู้กระทำผิดถูกตัดสินว่าบริสุทธิ์
กระแสการเคลื่อนไหว #MeToo ในญี่ปุ่นเป็นที่สนใจน้อยและถูกทำให้กระแสอ่อนลงกว่าที่อื่น โดยในญี่ปุ่นเองมีเหยื่อความรุนแรงทางเพศเข้าแจ้งความกับตำรวจน้อยมาก เหยื่อส่วนใหญ่จะไม่บอกให้ผู้อื่นทราบ เพราะกลัวว่าจะโดนกล่าวโทษและอับอายสังคม