ทรัมป์ระงับภาษีเม็กซิโกหลังปิดดีลตม.
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯระบุว่า เขาได้ระงับมาตรการภาษีที่ขู่ไว้ก่อนหน้านี้กับเม็กซิโก หลังจากสามารถบรรลุข้อตกลงที่มีการลงนามเรื่องการอพยพเข้าเมือง
“ ผมพอใจที่จะแจ้งว่าสหรัฐอเมริกาได้บรรลุข้อตกลงที่มีการลงนามกับเม็กซิโกแล้ว” ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุในทวิตเตอร์
“กำหนดการเรื่องภาษีที่สหรัฐฯมีต่อเม็กซิโกในวันที่ 10 มิ.ย.มีการระงับอย่างไม่มีกำหนด”
โดยเขาเสริมว่า “ เม็กซิโกตกลงที่จะใช้มาตรการเข้มงวดที่จะควบคุมกระแสการหลั่งไหลการอพยพเข้าเมืองผ่านเม็กซิโก และมาที่พรมแดนทางใต้ของเรา นี่เป็นการลดจำนวนครั้งใหญ่ หรือกำจัดการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากเม็กซิโกและเข้ามาในสหรัฐฯ”
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่ารายละเอียดของข้อตกลงจะมีการเผยแพร่โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ หลังจากนี้ไม่นาน
เจ้าหน้าที่ประจำชายแดนสหรัฐฯจับกุมผู้อพยพจากเม็กซิโกได้กว่า 132,000 คนในเดือนพ.ค. เป็นเดือนที่มีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 โดยทรัมป์ ซึ่งเคยระบุว่าการอพยพเข้ามาเป็นเหมือน ‘การบุกรุก’ ได้ขู่จะขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกเป็นอัตรา 25% หากเม็กซิโกไม่แก้ไขปัญหาในประเด็นนี้
ทั้งนี้ เม็กซิโกยอมถอยในการเจรจา โดยเสนอจะส่งกำลังทหาร 6,000 นายไปประจำชายแดนใต้ที่ติดกับกัวเตมาลา แต่ระบุว่า ต้องการเห็นการแก้ไขในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจ
เม็กซิโกเตรียมรายการสินค้าที่มีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ โดยมีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นหลักเนื่องจากเป็นพื้นฐานการหาเสียง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จีนใช้เป็นมาตรการโต้ตอบสหรัฐฯ มาก่อนหน้านี้
สหรัฐฯ ขึ้นภาษีเป็น 25% มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับสินค้านำเข้าจากจีนในเดือนพ.ค. ทำให้จีนตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯกับสินค้าอเมริกันเช่นกัน และเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ทรัมป์ประกาศว่าเขาตัดสินใจในเดือนนี้ว่าจะรุกจีนด้วยภาษีเพิ่มเติมอีก 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับสินค้าจีน
นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า กรณีพิพาททางการค้าอาจทำลายซัพพลายและส่งผลต่อผู้บริโภคในเวลาที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกหลังวิกฤตการเงินปี 2551เริ่มส่งผล และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยมากขึ้น
แม้แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่แถวหน้าด้านเศรษฐกิจ ดูจะไม่มีภูมิคุ้มกันกับขาลง
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่าการเติบโตของงานชะลอตัวลงในเดือนพ.ค.และค่าจ้างปรับสูงขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ ก่อให้เกิดความกลัวว่าการสูญเสียโมเมนตัมในกิจกรรมเศรษฐกิจอาจขยายตัวไปสู่ตลาดแรงงาน
โดยทั่วไป กลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ คัดค้านมาตรการภาษี โดยเตือนว่าพวกเขาอาจขึ้นค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัท และทำให้ผู้บริโภคอเมริกันซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น.