เกาหลีจ่อเปลี่ยนนับอายุเป็นสากล
โซล (ซีเอ็นเอ็น) – เมื่อชาวเกาหลีใต้บอกอายุกับชาวต่างชาติมักจะบอกอายุ 2 แบบ โดยแบบแรกคือ “อายุสากล” หรือก็คืออายุนับจากปีที่เกิด และ “อายุเกาหลี” ที่อาจจะมากกว่าอายุสากล 1 หรือ 2 ปี
ในเกาหลี เด็กจะมีอายุ 1 ขวบ นับตั้งแต่วันที่เกิด หมายความว่า คนที่เกิดในเดือน ม.ค. ปี พ.ศ. 2533 จะมีอายุ 30 ปี ตามอายุเกาหลี และอายุ 29 ปี ตามอายุสากล ส่วนผู้ที่เกิดในช่วงสิ้นปีของปี 33 ก็จะมีระยะห่างที่มากขึ้น ทำให้เด็กที่เกิดในวันที่ 31 ธ.ค. อายุ 2 ขวบ ในวันที่ 1 ม.ค. ของปีถัดไป
ส.ส.ฮวัง จู ฮง มองว่าการนับอายุเช่นนี้ก่อให้เกิดความสับสนอย่างมาก จึงมีความต้องการที่จะเปลี่ยนการนับอายุแบบเกาหลีดั้งเดิม
นายฮวังระบุเมื่อระหว่างยื่นร่างกฎหมายสู่สภาในช่วงต้นปีว่า ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเพียง “ประเทศเดียว” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ยังใช้ระบบนับอายุตามธรรมเนียม โดยการปรับเปลี่ยนจะช่วยทำให้เกาหลีใต้มีการนับอายุที่เหมือนและสอดคล้องกับสากลโลก
การนับอายุแบบเกาหลีมีรากมาจากจีน โดยภาษาจีน และการเขียนแบบจีนเคยเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วเกาหลี จึงมีอิทธิพลต่อการพัฒนามาเป็นเกาหลีสมัยใหม่ในปัจจุบัน
สำหรับธรรมเนียมจีน จะมีการเขียนอายุตามธรรมเนียมด้วยระบบลำดับ เริ่มต้นที่ 1 เช่นเดียวกันกับแบบเกาหลี โดยเด็กแรกเกิดจะเริ่มเข้าสู่ช่วง 1 ปีแรก หรือ ฮันซัล และเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ก็จะเข้าสู่ช่วงปีที่ 2 หรือ ทูซัล เมื่อนำมาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ คำว่า ฮันซัล ก็จะแปลได้ว่า “อายุ 1 ปี” ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้ฟัง ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือการที่ระบบนับอายุดังกล่าวเริ่มที่ 1 แทนที่จะเป็น 0
ปัจจุบัน กฎหมายในเกาหลียังมีการผสมผสานระหว่างระบบการนับอายุทั้ง 2 แบบ โดยในชีวิตประจำวัน จะใช้การนับอายุแบบเกาหลี แต่อายุตามกฎหมายเกาหลีส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับการคำนวณอายุแบบสากล โดยมีกฎหมายบางประการ เช่น การกำหนดอายุผู้เข้าชมภาพยนตร์ จะมีการนับอายุจากปีที่เกิด โดยไม่ได้คำนึงที่เดือน หมายความว่า ผู้ที่เกิดในเดือน ม.ค. และ ธ.ค.ในปี 33 จะนับว่ามีอายุเท่ากัน
ร่างกฎหมายของนายฮวังระบุว่า “ความแตกต่างของวิธีการคำนวณอายุตามกฎหมาย และในชีวิตประจำวัน ส่งผลเสียหลายประการ เช่น การเสียค่าใช้จ่ายในส่วนการบริหารที่ไม่จำเป็น สร้างความสับสนในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เนื่องจากความแตกต่างระหว่างเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ รวมถึงปัญหาเนื่องจากการใช้วัฒนธรรมลำดับขั้นอาวุโส และปัญหาการไม่ยอมคลอดลูกตามกำหนดเพื่อเลี่ยงเดือนที่ผู้ปกครองไม่พึงพอใจ”
หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการรับรอง หมายความว่าเกาหลีใต้จะนำระบบการนับอายุแบบสากล “มาบังคับใช้ในกฎหมายและเอกสารทางการทั้งหมด” จะมีการกระตุ้นให้การปกครองส่วนท้องถิ่นและสังคมโดยรวมนำระบบการนับอายุแบบสากลมาใช้อย่างสม่ำเสมอ.