เอสเอ็มอีแบงก์เอ็นพีแอลลดวูบ จาก 14% เหลือ 9.7%
SME D Bank วางเป้าปี 66 ปล่อยสินเชื่อทะลุ 8 หมื่นล้าบาท หลังคลังขยับกรอบวงเงินปล่อยกู้ ได้สูงสุด 50 ล้านบาท ลุยแก้ NPL จากอดีตที่ผ่านมาสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 9.7% ชี้เป็นสัดส่วนหนี้ใหม่เพียง 3 พันล้านบาท ขณะที่หนี้เดิมอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ SME D Bank เมื่อปี 2565 ปล่อยสินเชื่อได้ 6.88 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 40% จากปี 2564 ที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อได้ 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นการปล่อยสินเชื่อได้เติบโตมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร เนื่องจากกระทรวงการคลังได้เปิดวงเงินสินเชื่อให้ SME D Bank สามารถปล่อยวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น จากเดิม 15 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท
ขณะที่การดำเนินงานในปี 2566 นี้ SME D Bank มีเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เป็น 8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง SME D Bank มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยให้เอสเอ็มอีต่อรายมีจำนวนมากขึ้น และวางแผนทิศทางช่วยเอสเอ็มอีไว้ ทั้งการลดภาระเรื่องอัตราดอกเบี้ย และการดำเนินงานต่างๆ
“การให้สินเชื่อต่อรายของ SME D Bank วงเงินเฉลี่ยรายละ 3-5 ล้านบาท แต่ปี 2565 ที่ผ่านมา หลังจากมีการขยายวงเงินปล่อยกู้ได้จาก 15 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อในวงเงินที่มากกว่า 15 ล้านบาทได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท”
ขณะที่สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ในปี 2558 ที่ SME D Bank ได้เข้าสู่แผนการฟื้นฟูธนาคาร มี NPL สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารได้มีการแก้ปัญหามาโดยตลอด และหลังออกจากแผนฟื้นฟู ธนาคารได้มีการเพิ่มเติมการบริหารความเสี่ยง การเข้าไปใกล้ชิดลูกค้า และแนะนำลูกค้า จนทำให้หนี้เสีย ณ สิ้นปี 2565 ลดลงมา จาก 14% เหลือ 9.7% คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.06 หมื่นล้านบาท
“จากสัดส่วน 9.7% นั้น แบ่งเป็น หนี้เก่าจากในอดีตที่ผ่านมา จำนวน 7,800 ล้านบาท จากเดิมอยู่สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้เสียใหม่ เพียง 3,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3% ซึ่งอยู่ใกล้เคียงในระบบของตลาด และธนาคารมีแผนที่จะบริหารจัดการ NPL รวมกันแล้วให้อยู่ในระดับไม่เกิน 10%”
ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร SME D Bank พบปัญหาลูกหนี้แต่ละรายว่ามีหนี้ที่กระจายอยู่หลายที่ และต้นทุนแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น การบริหารจัดการหลังจากปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะมีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ ในปี 2566 SME D Bank จึงได้จัดวงเงินสินเชื่อ เอสเอ็มอี ดี พร้อม วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท สนับสนุนการรีไฟแนนซ์มาที่ไว้แบงก์ อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.75% โดยสามารถผ่อนชำระได้นานถึง 15 ปี ได้วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้จัดวงเงินสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วงเงิน 5,000- 10,000 ล้านบาท หลังจากแนวโน้มในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการจดทะเบียนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท และยังได้ออกสินเชื่อสำหรับสิ่งแวดล้อม BCG สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีสภาพคล่อง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท นาน 15 ปี และเว้นการชำระหนี้เงินต้นนาน 2 ปี วงเงินให้กู้สูงสุด 50 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน หลังจากได้มีการประเมินว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 28 ล้านคน จากปี 2565 ประมาณ 15 ล้านคน จึงได้จัดสินเชื่อสปีทอัพ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี วงเงินให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ เพราะส่วนใหญ่เอสเอ็มอีเหล่านี้ใช้งบในการตั้งต้นธุรกิจประมาณ 3-5 ล้านบาท
“แผนการดูแลเอสเอ็มอีเราปีนี้ จะโฟกัสไปที่เอสเอ็มอีกลุ่มเล็ก และกลุ่ม BCG และกลุ่มก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่ง บริการ และท่องเที่ยว ตามจังหวัดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ โดย SME D Bank มีแหล่งทุนมาจากการออกพันธบัตร และใช้เงินฝากของสถาบัน และในปี 2566 นี้ หากการดำเนินการพัฒนาคอลแบงก์และโมบายสำเร็จ จะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568 การให้บริการลูกค้าสะดวก และเข้าถึงเราได้เร็วขึ้น”