โพลอังกฤษหนุนทำงาน 4 วัน/สัปดาห์
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า แรงงานอังกฤษเชื่อว่าพวกเขาสามารถทำงานได้มาตรฐานเหมือนเดิมหากทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
โดย Indeed เว็บไซต์หางานทั่วโลกทำงานร่วมกับ YouGov ในการสำรวจแรงงานที่ทำงานเต็มเวลาในสหราชอาณาจักรกว่า 2,000 คน
3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า พวกเขาสนับสนุนให้มีช่วงเวลาในการทำงานน้อยลงต่อสัปดาห์ และอ้างว่าพวกเขาสามารถทำงานได้มาตรฐานเดียวกัน หากมีการลดเวลาวันทำงานจาก 5 วันเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์
ในบรรดากลุ่มมิลเลนเนียลที่มีจำนวนมากกว่า โดย 79% ของผู้ที่มีอายุ 23 – 38 ปี สนับสนุนให้ทำงานน้อยลงต่อสัปดาห์และระบุว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับคุณภาพการทำงานของพวกเขา
โดยผลสำรวจยังชี้ว่า มากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจคิดว่าสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิตเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในงานของพวกเขา โดยผู้ที่ให้ความสำคัญกับสมดุลการทำงาน – ชีวิตมากที่สุดระบุว่า พวกเขายอมสละเงินเดือน 6,000 ปอนด์ ( ) ต่อปีเพื่อให้แน่ใจว่ามีสมดุลชีวิตส่วนตัวที่ดี
อย่างไรก็ตาม เงินเดือนเป็นสิ่งที่แรงงานให้ความสำคัญมากที่สุด โดย 57% ของโพลชี้ว่า เงินเดือนเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ความมั่นคงของงาน มีเพื่อนร่วมงานที่ดี และเวลาในการเดินทางก็เป็นปัจจัยสำคัญของสถานที่ทำงานด้วย
แนวความคิดที่มีระยะเวลาในการทำงานสั้นลงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั้งในสหราชอาณาจักรและระดับนานาชาติ
ในสหราชอาณาจักร Momentum กลุ่มรณรงค์การเมืองที่มีสมาชิกกว่า 40,000 ราย ได้กระตุ้นพรรคแรงงานของอังกฤษให้บรรจุแนวคิดการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทางการของพรรค TUC องค์กรสหภาพการค้าของสหราชอาณาจักรก็ได้เรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนมาทำงาน 4 วัน/สัปดาห์เช่นกัน โดยอ้างว่ามีความเป็นไปได้ในศตวรรษนี้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีสนับสนุนมากขึ้น ทั้งปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ
นอกจากสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิตแล้ว แรงงานอังกฤษยังต้องการทราบว่าเพื่อนร่วมงานได้เงินเดือนเท่าไร จากผลสำรวจของ Indeed
56% ของผู้ตอบแบบสำรวจสนับสนุนให้มีการแสดงค่าจ้างอย่างโปร่งใส และมีความตั้งใจที่จะยกเลิกความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ได้มาในประเด็นนี้
การจ่ายค่าจ้างอย่างโปร่งใส ซึ่งเป็นมาตรฐานในสวีเดนแล้ว ได้รับการสนับสนุนจากสำนักคิดและสหภาพการค้าในสหราชอาณาจักร และถูกคัดค้านโดยแรงงานเต็มเวลาเพียง 33% เท่านั้น
โดยสถานีโทรทัศน์ BBC ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภาครัฐ และทางการท้องถิ่นในสหราชอาณาจักร ถูกเรียกร้องให้มีการเปิดค่าจ้างของพนักงานในสถานีต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสเช่นกัน
Indeed พบว่า 1 ใน 3 ของพนักงานไม่พอใจกับระดับค่าจ้างของตัวเอง และมากกว่าครึ่งระบุว่า กำลังพิจารณาการออกจากตำแหน่งงานเดิม หากไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้านี้
ในสหราชอาณาจักร ได้เตรียมข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับบริษัทใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 250 คนให้ตีพิมพ์ข้อมูลความแตกต่างของเงินเดือนแต่ละเพศ นักเคลื่อนไหวบางกลุ่มและส.ส.เรียกร้องให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องตีพิมพ์ความแตกต่างของค่าจ้างด้านเชื้อชาติ.