173 บ.วอนทรัมป์ทบทวนภาษีรองเท้าผลิตในจีน
ไนกี้ อาดิดาส และบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ขายรองเท้ากีฬาร้องขอให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทบทวนมาตรการภาษีกับรองเท้าที่ผลิตในจีน โดยระบุว่า นโยบายนี้ “เป็นภัยพิบัติสำหรับผู้บริโภคของเรา บริษัทของเรา และเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวม”
โดย 173 บริษัทลงนามในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงวันที่ 20 พ.ค. และโพสต์บนเว็บไซต์สมาคมการค้าอุตสาหกรรมรองเท้า และยังได้ส่งไปถึงสวีเวน มนูชิน รมว.กระทรวงการคลังสหรัฐฯ วิลเบอร์ รอสส์ รมว.กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และแลร์รี คัดโลว์ ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ
“ ในนามของผู้บริโภครองเท้าหลายร้อยล้านคน และพนักงานหลายแสนคน เราขอให้ท่านหยุดมาตรการที่เป็นการเพิ่มภาระภาษีนี้โดยทันที” ทางกลุ่มระบุ “ ข้อเสนอของท่านที่จะเพิ่มภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนกำลังทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องจ่ายเพิ่ม ถึงเวลาต้องยุติสงครามการค้านี้แล้ว”
เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เผยแพร่รายการสินค้าที่มีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่ม ซึ่งมีรองเท้าทุกประเภท ตั้งแต่รองเท้าผ้าใบไปจนถึงรองเท้าแตะ
ในจดหมายเปิดผนึกยังระบุว่า “ ในอุตสาหกรรมนี้ที่ต้องเผชิญกับภาษี 3,000 ล้านดอลลาร์ทุกปี เราสามารถยืนยันได้ว่า ค่าใช้จ่ายใดๆในการนำเข้ารองเท้า จะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคชาวอเมริกัน”
สมาคมผู้ค้าในอุตสาหกรรมรองเท้า , ผู้จำหน่ายและผู้ค้าปลีกรองเท้าอเมริกา ประเมินว่าภาษีจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในสหรัฐฯถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยบริษัทยังระบุในจดหมายว่าภาษีจะกระทบกับพลเมืองชนชั้นแรงงานด้วย
ภาษีเป็นประเด็นสำคัญในโลกรองเท้าเพราะบริษัทผู้ผลิตรองเท้าเป็นผู้จ่ายภาษีสูงสุดในสหรัฐฯอยู่แล้ว โดยในบางกรณี สูงเกิน 30%
หลายบริษัทย้ายการผลิตไปเวียดนามเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษจากข้อตกลงการค้า TPP ซึ่งจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯได้อย่างปลอดภาษี แต่ทรัมป์กลับถอนตัวสหรัฐฯออกจากการเป็นสมาชิกข้อตกลงนี้
แต่หลายบริษัทในจดหมายล้วนแต่ต้องพึ่งพาจีนในหลายรูปแบบ เช่น ไนกี้ ผลิตเสื้อผ้า 26% และรองเท้า 26% ในจีนในปีงบประมาณ 2561 Skechers ผลิตสินค้าประมาณ 65% ในจีน แต่สินค้าไม่ได้นำเข้ามาขายที่สหรัฐฯทั้งหมด ขณะที่ Under Armour ซึ่งลงนามในจดหมายด้วย มีการผลิตประมาณ 18% ในจีน ลดลงจากเดิมคือ 46% ในปี 2556 โดยเป้าหมายของบริษัทคือการลดการผลิตในจีนจนเหลือเพียง 7% ภายในปี 2566.