กูเกิลกลับลำหัวเว่ยหลังสหรัฐฯ เลื่อนแบน 90 วัน
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. อัลฟาเบท บริษัทแม่ของกูเกิลระบุว่ามีแผนจะทำงานร่วมกับบริษัทหัวเว่ยของจีนต่อไปอีก 90 วัน ไม่นานหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศผ่อนคลายความเข้มงวดด้วยการเลื่อนเวลาการแบนหัวเว่ยออกไปชั่วคราว
เกิดเหตุการณ์ฉุกละหุกและดราม่ากับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯในช่วงนี้ โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ค. กูเกิลระบุว่าจะตัดสัมพันธ์กับหัวเว่ย เพื่อเป็นการปฏิบัติตามการตัดสินใจของทางรัฐบาลสหรัฐฯที่ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกิจด้วยที่เรียกว่า Entity List
อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศว่าจะขยายเวลาให้หัวเว่ยอีก 90 วันในการคงระบบโครงข่ายออนไลน์และคุ้มครองผู้ใช้งานจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
การยกเว้นนี้ทำให้กูเกิลยังคงส่งซอฟต์แวร์อัพเดทให้กับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 19 ส.ค.
โดยโฆษกของกูเกิลชี้แจงกับสื่อ CNBC ในอีเมลเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ว่า “ เป็นประโยชน์สูงสุดของทุกคนที่ทำให้โทรศัพท์อัพเดทและมีความปลอดภัย และลิขสิทธิ์ชั่วคราวนี้ทำให้เรายังคงเป็นผู้ให้บริการอัพเดทซอฟต์แวร์ และความปลอดภัยให้กับสมาร์ทโฟนรุ่นที่มีอยู่ของหัวเว่ยต่อไปได้อีก 90 วัน”
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯระบุว่า จะมีการประเมินว่าจะขยายเวลาการยกเว้นชั่วคราวให้นานเกินกว่า 90 วันหรือไม่ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางกระทรวงขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยและอีก 68 บริษัท ทำให้หัวเว่ยไม่สามารถซื้อชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐฯได้
ทั้งนี้ บริษัทที่มีชื่อใน Entity List ถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
โดยโฆษกของหัวเว่ยปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในประเด็นล่าสุดนี้
หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 จากส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนหน้านี้ บริษัทเผยความทะเยอทะยานที่จะมุ่งขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกให้ได้ภายในปี 2563
ในปี 2561 หัวเว่ยใช้จ่ายงบในการซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ทั่วโลกมากถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหัวเว่ยซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทในสหรัฐฯ ราว 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้ง Qualcomm , Intel และ Micron Technology
จากข้อมูลของ Canalyst หัวเว่ยจัดส่งสมาร์ทโฟนกว่า 49% ให้กับตลาดต่างประเทศในไตรมาสแรกของปี 2562 นี้.