บ.สหรัฐฯจ่อสูญรายได้จากหัวเว่ยหมื่นล้าน
หัวเว่ย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก และผู้ขายสมาร์ทโฟนอันดับ 2 ของโลกพึ่งพาบริษัทไฮเทคของสหรัฐฯหลายสิบแห่งสำหรับชิ้นส่วนสำคัญ
โดยหัวเว่ยซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์มูลค่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากซัพพลายเออร์ 13,000 รายทั่วโลก โดยในบรรดาซัพพลายเออร์เหล่านั้น เป็นบริษัทในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งชิปคอมพิวเตอร์จาก Qualcomm และ Broadcom รวมทั้งซอฟต์แวร์จากไมโครซอฟต์ และแอนดรอยด์จากกูเกิล
รายได้ของบริษัทอเมริกันเหล่านี้มีความเสี่ยงจากการตัดสินใจของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยเป็นบริษัทที่ถูกสหรัฐฯ แบน
การขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้ง “กับตัวบริษัทเองและโครงข่ายลูกค้าทั่วโลก ทำให้บริษัทไม่อาจอัพเกรดซอฟต์แวร์ และควบคุมการบำรุงรักษาตามกำหนดและการเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่” บรรดานักวิเคราะห์จาก Eurasia Group ระบุ
คำสั่งแบนจากทำเนียบขาวยังสร้างปัญหากับซัพพลายเชน เพราะบริษัทต่างชาติไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ที่มีชิ้นส่วนซึ่งผลิตในสหรัฐฯให้กับหัวเว่ยด้วยเช่นกัน หมายความว่า หัวเว่ยจะซื้อชิปเซ็ตจากซัพพลายเออร์ไต้หวันไม่ได้ หากชิปเซ็ตนั้นมีชิ้นส่วนที่ผลิตในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยระบุว่า บริษัทใช้เวลานานหลายปีในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“ การตัดสินใจครั้งนี้เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านหัวเว่ยล่าสุด จากรัฐบาลสหรัฐฯด้วยเหตุผลทางการเมือง” เคน วู ประธานหัวเว่ยระบุในจดหมายเวียนถึงพนักงานที่แชร์กับสื่อ Cnn Business เมื่อวันที่ 17 พ.ค.
บริษัทออกแบบชิป HiSilicon ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของหัวเว่ยระบุว่าได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเพื่อการเอาตัวรอด
เหอถิงโป ซีอีโอบริษัท HiSilicon ระบุในจดหมายเวียนภายในว่า บริษัทคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่า “ วันหนึ่ง ชิปและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในสหรัฐฯจะไม่มีให้เรา ” เพื่อให้หัวเว่ยยังคงให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทได้สร้าง ‘ยางอะไหล่’ เตรียมพร้อมไว้แล้วเพื่อให้บริษัทอยู่รอด
Rex Wu นักวิเคราะห์จาก Jefferies ระบุว่า บริษัทอเมริกันเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หัวเว่ยขาดทางเลือกแทนชิปคอมพิวเตอร์เพื่อสถานีสื่อสาร หมายความว่า แม้หัวเว่ยจะเป็นผู้นำในเทคโนโลยี 5G แต่ก็ยังต้องการชิ้นส่วนของสหรัฐฯ อยู่
หัวเว่ยลงนามในสัญญาเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี 5G หลายแห่งทั่วโลก คือ 25 สัญญาในยุโรป และ 10 สัญญาในตะวันออกกลาง แต่จะเป็นเรื่องยากหากหัวเว่ยไม่ได้ซื้อซอฟต์แวร์ หรือชิปคอมพิวเตอร์จากซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯ.