ทรัมป์เซ็นคำสั่งแบนอุปกรณ์สื่อสารต่างชาติ
เมื่อวันที่15 พ.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐฯใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมจากประเทศที่รัฐบาลมองว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง
การตัดสินใจครั้งนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้สหรัฐฯตึงเครียดกับจีนมากขึ้นเนื่องจากทั้งสองประเทศมีปัญหากันในประเด็นหัวเว่ย (ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก) ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นอุปกรณ์สอดแนมโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานของชาติตะวันตก
ทางทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะระบุเจาะจงว่าจีนและหัวเว่ยเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของคำสั่งพิเศษนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีออกมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เพิ่มชื่อหัวเว่ยอยู่ในรายชื่อบริษัทที่รัฐบาลสหรัฐฯพิจารณาว่าบั่นทอนผลประโยชน์อเมริกัน การเพิ่มชื่อหัวเว่ยเข้าไปในรายชื่อ ทำให้รัฐบาลทรัมป์มั่นใจว่าคำสั่งพิเศษครั้งนี้จะครอบคลุมถึงหัวเว่ยอย่างแน่นอน
คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (รวมทั้งการเพิ่มชื่อหัวเว่ยในรายชื่อ) มีขึ้นในช่วงเวลาที่ทรัมป์กำลังกดดันจีนมากขึ้นในการเจรจาการค้า โดยการขึ้นภาษีที่กระทบกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่านับพันล้านดอลลาร์
เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คำสั่งสะท้อนข้อผูกพันของทรัมป์ที่จะปกป้องความมั่นคงของสหรัฐฯจากบริษัทต่างชาติ และเจ้าหน้าที่อีกคนระบุว่า มีการล็อบบี้พันธมิตรอย่างเปิดเผยไม่ให้ใช้อุปกรณ์หัวเว่ย โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาจเป็นช่องทางให้รัฐบาลจีนสอดแนมการสื่อสารของสหรัฐฯ ที่มีความเปราะบาง
รัฐบาลทรัมป์จะระบุกฎข้อบังคับอย่างเจาะจงมากกว่านี้ภายใน 150 วัน จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูง และจะมีการเชิญบรรดานักธุรกิจสหรัฐฯเพื่อเสนอฟีดแบคในประเด็นนี้ด้วย
คำสั่งนี้จะกระทบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายรายเล็กและในที่ห่างไกล เพราะส่วนมากจะใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย เนื่องจากมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดอย่างโนเกีย และอิริคสันของยุโรป โดยผู้ให้บริการรายใหญ่ส่วนมากจะไม่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย
ขณะที่คำสั่งนี้มีผลย้อนหลังไปถึงการจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสารในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นแหล่งข่าวปฏิเสธที่จะกล่าวว่ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ให้บริการเพื่อให้เลิกใช้อุปกรณ์หัวเว่ย หรืออาจมีบทลงโทษหากบริษัทละเมิดนโยบายใหม่
คำสั่งนี้ทำให้บริษัทสื่อสารอเมริกันหลายแห่งที่พึ่งพาอุปกรณ์จากต่างประเทศตั้งข้อสงสัยว่า ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
“ เราแค่ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร และตัดสินใจทำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ” เครก เกตส์ ซีอีโอของ Triangle โครงข่ายขนาดเล็กที่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยให้ความเห็นเขากล่าวว่า สมาชิกของสมาคมการค้าที่หลากหลายได้มีการพูดคุยกันว่าจะมีความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางเพื่อชดเชยเยียวยาในส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อให้เลิกใช้อุปกรณ์หัวเว่ยหรือไม่
“ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ไปแล้วไม่มีการพูดคุยในประเด็นเหล่านี้ จะมีความช่วยเหลือบ้างหรือเปล่าถ้าเลิกใช้หัวเว่ย ?”