7-11 เริ่มลดขยะอาหารในญี่ปุ่น
ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในญี่ปุ่นจะผ่อนคลายระเบียบการให้ผู้ผลิตอาหารมากขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดขยะอาหาร
โดยเชนผู้ประกอบการร้าน 7-11 จะยอมรับบะหมี่สำเร็จรูปที่มีวันหมดอายุค่อนข้างสั้น ซึ่งภายใต้ระเบียบการเดิม สินค้าเหล่านี้จะถูกทิ้งหมด
ร้าน 7-11 ฉีกกฎเดิมที่เรียกว่า “ 1 ใน 3 ” ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตอาหารจัดส่งสินค้ามาที่ร้านภายในเวลาช่วงแรก ของเวลา 3 ช่วงจากวันผลิตถึงวันหมดอายุ โดยที่ผ่านมา สินค้าที่ส่งมาไม่ทันช่วงเวลาแรกของ 1 ใน 3 จะถูกส่งคืนกลับให้ผู้ผลิต และส่วนใหญ่จะถูกทำลายทิ้ง ซึ่งเรื่องนี้ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า ทำให้เกิดขยะอาหารปริมาณมหาศาลในทุกปี
ทางร้าน 7 -11 ขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยได้มากคิดเป็น 15% ของยอดขายทั่วประเทศญี่ปุ่น เพราะเหตุผลนี้ การตัดสินใจของทางร้าน จึงส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดกับอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ที่ห้างค้าส่งอาหารระบุ
ในปีงบประมาณ 2560 สินค้าอาหารแปรรูปในญี่ปุ่นมูลค่า 56,200 ล้านเยน ( 16,112 ล้านบาท) ถูกส่งคืนกลับไปให้ผู้ผลิต หลังจากจัดส่งเกินเวลาช่วงแรกของ 1 ใน 3 จากการประเมินของสถาบันกระจายเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มีรายงานว่าสินค้ามูลค่ากว่า 40,000 ล้านเยนของสินค้าเหล่านี้ หรือ 70% ถูกทิ้งไปแม้จะยังสามารถรับประทานได้ก็ตาม
กระทรวงฟาร์มและสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นประเมินว่าการทิ้งอาหาร ซึ่งยังสามารถรับประทานได้ ทั้งหมดมีน้ำหนักกว่า 6 ล้านตันในปีงบประมาณ 2558 โดยกว่าครึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นนอกประเทศ
จากรายงานของกระทรวงฟาร์มในปี 2559 ขยะอาหารประจำปีของญี่ปุ่น รวมถึงอาหารที่สูญเสียไป มีน้ำหนักประมาณ 17 ล้านตัน เท่ากับจำนวนขยะต่อหัวประชากรอยู่ที่ 133 ก.ก. สูงกว่าเกาหลีใต้ที่ 114 ก.ก. และจีน 75 ก.ก.
เพื่อลดปริมาณอาหารที่ถูกคืนให้ผู้ผลิต ในเดือนส.ค. ร้าน 7-11 จะเริ่มรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงเวลา ครึ่งทางระหว่างวันผลิตถึงวันหมดอายุ โดยบริษัทจะปรับเปลี่ยนสินค้าอื่นๆทั้งเครื่องดื่มและขนมหวานตามนโยบายใหม่นี้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อคู่แข่งอย่างแฟมิลีมาร์ทและลอว์สัน ก็ใช้นโยบาย ‘ครึ่งทาง’ เหมือนกันกับเครื่องดื่มและขนมหวาน โดยแฟมิลีมาร์ทเริ่มขยายเวลาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตั้งแต่เดือนมี.ค.แล้ว ขณะที่ลอว์สันจะเริ่มดำเนินการในเดือนต.ค.นี้
หากมีการประยุกตร์ใช้ระเบียบการใหม่อย่างกว้างขวาง ผู้บริโภคในญี่ปุ่นอาจพบสินค้าที่ใกล้วันหมดอายุยังวางขายบนชั้นสินค้ามากขึ้น.