สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 มี.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (43 มม.) จ. พระนครศรีอยุธยา (8 มม.) และ จ.กำแพงเพชร (5 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 32,338 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 25,814 ล้าน ลบ.ม. (54%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับเทศบาลตำบลสำนักขาม ลงพื้นที่สำรวจความเหมาะสมเบื้องต้นโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำกงสีขาว พร้อมระบบกระจายน้ำ บ้านไทย-จังโหลน หมู่ที่ 7 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำเป็นน้ำต้นทุน เพื่อการอุปโภค บริโภค ให้แก่ประชาชนประมาณ 800 กว่าครัวเรือน และน้ำเพื่อการเกษตร อาทิ สวนทุเรียน สวนมังคุด ประมาณ 3,000 กว่าไร่ และเป็นน้ำสำรองสำหรับอัคคีภัย รวมทั้งเป็นน้ำต้นทุนสนับสนุนด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา
กอนช. ติดตามการสนับสนุนน้ำต่อการเพาะปลูก และอุปโภค-บริโภค เหนือเขื่อนวังร่มเกล้า ในช่วงฤดูแล้งนี้
กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำบริเวณแก้มลิงเหนือเขื่อนวังร่มเกล้าทั้ง 7 แห่ง มีความจุรวม 22.24 ล้าน ลบ.ม.
มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 21.26 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล 1 พ.ย. 65) หรือประมาณร้อยละ 95 ของความจุของแก้มลิงทั้งหมด โดยในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งให้กับพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ อ.ทัพทัน และหนองขาหย่าง มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคงเหลือปริมาณน้ำในแก้มลิงทั้ง 7 แห่ง รวมประมาณ 16.93 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 76% ของความจุของแก้มลิงทั้งหมด
เขื่อนวังร่มเกล้า เป็นเขื่อนทดน้ำปิดกั้นแม่น้ำสะแกกรัง บริเวณ อ.เมือง จ.อุทัยธานี ใช้ในการบริหารจัดการน้ำที่ไหลลงมาจากแม่วงศ์และคลองโพธิ์ ที่จะมารวมกันบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อนวังร่มเกล้า
ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดสรรน้ำแก่เกษตรกร เพื่อใช้ในการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตโครงการชลประทานอุทัยธานี ที่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 13,873 ไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 11,198 ไร่ หรือ 81% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งหมด คงเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังที่รอการเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 2,675 ไร่
ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการฯ พบว่าขณะนี้เกษตรกรได้ลดการใช้น้ำลงแล้ว ปัจจุบันคงเหลือปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนวังร่มเกล้าประมาณ 0.85 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดในช่วงฤดูแล้งที่ยังเหลืออีกประมาณ 2 เดือน โดยโครงการชลประทานอุทัยธานี ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วยแล้ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการติดตามผลการดำเนินการโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแหลมพระยาจาก ตำบลยางแก้ว อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยดำเนินการตรวจวัดระดับน้ำบาดาล เก็บ/วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบาดาล ตรวจวัดอัตราการไหลของบ่อน้ำบาดาล และติดตามการทำงานของระบบประปาบาดาลตลอดจนติดตามการดูแลบริหารจัดการระบบประปาบาดาล พร้อมทั้งได้สำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้น้ำและสภาพปัญหาของพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานของระบบประปาบาดาลให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
1.2 กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บ้านนาเรือง หมู่ที่ 5,8 ตำบลนาผือ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อพิจารณาหาทางช่วยเหลือโดยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน ไปยังแหล่งน้ำผลิตระบบประปา เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำผลิตระบบประปาหมู่บ้านลดลง อาจไม่เพียงพอต่อการผลิตประปาให้บริการแก่ประชาชน
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 6 – 11 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับจะมีความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 32,338 ล้าน ลบ.ม. (56%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 25,657 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,542 ล้าน ลบ.ม. (70%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,139 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9,666 ล้าน ลบ.ม. (53%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 25,521 ล้าน ลบ.ม. (54%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 12,782 ล้าน ลบ.ม. (58%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,338 ล้าน ลบ.ม. (62%)