สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 มี.ค. 66
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนอง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.นราธิวาส (24 มม.) จ.พระนครศรีอยุธยา (14 มม.) และ จ.ปัตตานี (12 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 32,862 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 26,125 ล้าน ลบ.ม. (55%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ พร้อม (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66
วานนี้ (2 มี.ค. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2566 เพื่อรับทราบประกาศปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 ซึ่งเป็นนโยบายสำหรับดำเนินการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบตามที่ สทนช. เสนอ (ร่าง) ปฏิญญาฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2. การประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับฤดูฝน ปี 2566 กำชับให้หน่วยงานติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องมีการวางแผนและเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำในทุกมิติ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วมและคุณภาพน้ำ โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้
เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 จำนวน 12 มาตรการ และเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาโดยเร็วต่อไป
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรการอย่างเคร่งครัด
รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 3 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกับชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว สนับสนุนรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ แจกจ่ายน้ำ รวมปริมาณน้ำ 12,000 ลิตร ณ โรงเรียนบ้านหัวฝาย ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง คลาดแคลนน้ำใช้อุปโภค – บริโภค
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคกลาง และภาคตะวันออกในวันนี้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 32,862 ล้าน ลบ.ม. (57%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 26,128 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,595 ล้าน ลบ.ม. (71%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,139 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9, 857 ล้าน ลบ.ม. (54%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 26,113 ล้าน ลบ.ม. (55%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 12,345 ล้าน ลบ.ม. (56%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,147 ล้าน ลบ.ม. (60%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วานนี้ (2 มี.ค. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2566 ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานมาตรการฤดูแล้ง ปี 65/66 และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับฤดูฝน ปี 2566 ได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 จำนวน 12 มาตรการ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับมาตรการอย่างเคร่งครัดและมีการวางแผนและเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำในทุกมิติ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วมและคุณภาพน้ำ ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน