สหรัฐฯขาดดุลการค้าต่ำสุดใน 8 เดือน
มูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือนในเดือนก.พ.เนื่องจากตัวเลขการนำเข้าจากจีนลดลง ชี้ให้เห็นว่านโยบาย “อมริกาต้องมาก่อน” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เริ่มส่งผล
โดยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯรายงานว่าการนำเข้าจากจีนที่ลดลง 20.2% เป็นแรงหนุนให้มูลค่าการขาดดุลการค้าลดลงเกือบ 3.4% ลงมาอยู่ที่ 49,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตัวเลขการขาดดุลการค้าลดลงสองเดือนต่อเนื่อง
ขณะที่โพลนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์คาดการณ์ว่า การขาดดุลการค้าจะเพิ่มเป็น 53,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.พ.
การขาดดุลการค้าในสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองของจีนลดลง 28.2% ลงมาอยู่ที่ 24,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.พ. เนื่องจากสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้นถึง 18.2%
ถึงแม้จะมีการพัฒนาปรับปรุงแล้ว การขาดดุลการค้ายังคงสูงอยู่และการลดการนำเข้าสินค้าจากจีนในเดือนก.พ.อาจเป็นเพียงชั่วคราว ข้อมูลการค้ามีความผันผวนในช่วงไม่กี่เดือนนี้ท่ามกลางตัวเลขที่เหวี่ยงไปมาระหว่างส่งออกและนำเข้า เพราะสหรัฐฯ มีความขัดแย้งกับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ รวมถึงจีนด้วย
ตัวเลขขาดดุลการค้าสินค้าสหรัฐฯลดลง 1.7% มาอยู่ที่ 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนก.พ.ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว เมื่อปรับสำหรับเงินเฟ้อ การขาดดุลการค้าสินค้าโดยรวมลดลง 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 81,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนก.พ. โดยค่าเฉลี่ยการขาดดุลการค้าเดือนม.ค. – ก.พ.ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยไตรมาส 4 อย่างเห็นได้ชัด
การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 1.5% เป็น 139,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนก.พ.การส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มจะยั่งยืน แม้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าในปี 61 หมายความว่าสินค้าที่สหรัฐฯผลิตมีคู่แข่งน้อยลงในตลาดต่างประเทศ
การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนก.พ. การจัดส่งเครื่องบินพลเรือนเพิ่มขึ้น 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนก.พ. แต่การส่งออกเครื่องบินพาณิชย์มีแนวโน้มลดลงหลังจากบริษัทโบอิ้งตัดสินใจระงับการจัดส่งเครื่องบินรุ่นที่มีปัญหาคือ 737 Max ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดของบริษัท
ในเดือนก.พ. การนำเข้าเติบโต 0.2% มาอยู่ที่ 259,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการนำเข้าสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้น 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.พ. นำเข้าโทรศัพท์มือถือและสินค้าในครัวเรือนอื่นๆ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นำเข้าซัพพลายอุตสาหกรรมและวัตถุดิบลดลง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ชี้ให้เห็นถึงการใช้จ่ายธุรกิจด้านอุปกรณ์ที่ชะลอตัว
การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ 173,700 ล้านบาร์เรล นับเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.35 ลดลงจากเดิมคือ 223.1 ล้านบาร์เรล การผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้สหรัฐฯพึ่งพาน้ำมันต่างชาติลดลง
“ การค้ามีแนวโน้มจะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ ” ไมเคิล เพียร์ซ นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ อาวุโสประจำ Capital Economics ในนิวยอร์กระบุ “ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกยังคงซบเซา และเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่า เราคาดว่าการเติบโตของการส่งออกจะอ่อนแรงลง”