สรรพากรรื้อสูตรภาษีแวตรีไซเคิลเศษเหล็ก
กรมสรรพากร เตรียมแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจรับซื้อเศษเหล็ก เพื่อแก้ปัญหากรณีมีการโกงการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร เสนอที่จะออกพระราชกฤษฎีกา ในเรื่องที่เกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ของธุรกิจค้าเหล็ก โดยให้โรงหลอมเหล็ก ซึ่งเป็นปลายทางของระบบนิเวศในธุรกิจค้าเหล็กในประเทศ ทำหน้าที่ในการออกภาษีขายแทนธุรกิจค้าเหล็ก
ทั้งนี้ ระบบนิเวศของธุรกิจค้าเหล็ก เริ่มจาก ผู้รับซื้อเศษเหล็กรายย่อย เช่น คนที่ขี่รถซาเล้ง ออกไปรับซื้อเศษเหล็กตามบ้าน เพื่อมานำส่งขายให้กับผู้รวบรวมเศษเหล็ก ซึ่งมีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ จากนั้นผู้รวบรวมเศษเหล็ก ก็ขายเศษเหล็กให้กับโรงหลอมเหล็ก เพื่อแปรรูปเหล็กนำกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบัน ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขาย ดังนั้น เมื่อบริษัทผู้รวบรวมเหล็ก ขายเหล็กให้กับโรงหลอมเหล็ก บริษัทผู้รวบรวมจะต้องออกใบกำกับภาษีขายให้กับโรงหลอม ทำให้ผู้ขายทำหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่ในอัตรา 7 % ให้กับกรมสรรพากร
อย่างไรก็ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะกำหนดให้ ธุรกิจโรงหลอมเหล็ก เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขาย แทนธุรกิจผู้รวบรวมเศษเหล็ก
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “สาเหตุที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเกิดปัญหาการปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในธุรกิจนี้ ซึ่งมีทั้งที่ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อหวังขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าปกติ และมีทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษี แต่เนื่องจากโรงหลอมเหล็กที่เป็นผู้รับซื้อเศษเหล็ก อาจมีใบกับภาษีปลอมติดเข้ามาด้วย จากผู้รวบรวมเศษเหล็กขาย เช่น มีใบกำกับภาษี 1,000 ใบ พบใบกำกับภาษีปลอม 20 ใบ เมื่อกรมสรรพากรตรวจพบ ก็จะกลายเป็นคดีโกงภาษีโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎเหล็กของกรมสรรพากร คือ หากมีกรณีตรวจพบใบกำกับภาษีปลอม จะไม่มีการเจรจา
“การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โรงหลอมเหล็ก ซึ่งเป็นปลายทางของธุรกิจค้าเหล็ก เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขาย แทนผู้รวบรวมเหล็ก จะทำให้กรมสรรพากร ตรสจสอบใบกำกับภาษี ของโรงหลอมเหล็ก ซึ่งมีไม่กี่รายในประเทศ แทนที่จะต้องไปตรวจสอบใบกำกับภาษี จากผู้รวบรวมเหล็ก ที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศ ซึ่งกรมได้คุยกับผู้ประกอบการในธุรกิจนี้แล้ว ซึ่งเห็นด้วยกับระบบนี้ว่าจะสามารถสร้างความโปร่งใสในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจนี้ได้ ซึ่งกรมคาดว่าจะสามารถประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวได้ภายในปีนี้” นายลวรณ กล่าวและกล่าวว่า
ทั้งนี้ ตามกฎหมายของกรมสรรพากร กำหนดให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ประกอบการค้า และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากร โดยทุกครั้งที่ขายสินค้าออกไป จะต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ซื้อ ซึ่งในฝั่งผู้ขาย จะเรียกว่าใบกำกับภาษีขาย ขณะที่ ฝั่งผู้ซื้อ ซึ่งจะได้รับใบกำกับภาษีด้วย เรียกว่า ใบกำกับภาษีซื้อ เช่น ราคาสินค้าราคา 100 บาท ผู้ขายจะบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 บาท รวมเป็น 107 บาท ซึ่งผู้ขายมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7บาทดังกล่าวต่อกรมสรรพากรในเดือนถัดไป ส่วนฝั่งผู้ซื้อสินค้าที่ต้องชำระเงินในราคา 107 บาทนั้น เท่ากับว่ามีภาระภาษี 7 บาท ซึ่งภาษี 7 บาทนี้ถือเป็นภาษีซื้อของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากยอดภาษีขายได้ กรณีภาษีขาย น้อยกว่าภาษีซื้อ ธุรกิจนั้นก็จะได้รับการคืนภาษีส่วนเกิน