มลพิษทางอากาศทำเด็กอายุสั้นลง 20 เดือน
มลพิษทางอากาศจะลดอายุขัยของเด็กลง 20 เดือนโดยเฉลี่ย โดยเด็กในประเทศเอเชียใต้ เช่นอินเดียและปากีสถานมีความเสี่ยงมากที่สุด อ้างอิงจากรายงานล่าสุด
อ้างอิงจากรายงาน State of Global Air (SOGA) ประจำปีนี้ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ 5 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะขาดอาหารและยาเสพติด
โดยเฉพาะความเสี่ยงในหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 และการใช้งานเชื้อเพลิงอย่างถ่านหินและถ่านที่ใช้ประกอบอาหารในบ้านส่งผลทำให้อายุขัยของผู้คนลดน้อยลงกว่าเดิม
ค่า PM2.5 เป็นมาตรวัดปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เล็กกว่า 2.5 ไมโครกรัมที่สามารถเล็ดรอดเข้าไปในปอดของมนุษย์ได้
“ ภาระที่เพิ่มขึ้นของโรคภัยไข้เจ็บจากมลพิษทางอากาศเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับชาติและสุขภาพของมนุษย์ ” รายงานระบุ
โดยปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมาหลายเมืองถูกปกคลุมด้วยอากาศพิษเป็นหมอกหนานานหลายวัน
รายงาน SOGA ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว มลพิษทางอากาศจะส่งผลให้เด็กที่เกิดในเอเชียใต้ในวันนี้ เสียชีวิตเร็วขึ้น 30 เดือน โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่เด็กจะเสียชีวิตเร็วกว่าวัยอันควรอยู่ที่ 20 เดือน
“ แหล่งของ PM2.5 ในอินเดียคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงในครัวเรือน ฝุ่นจากการก่อสร้าง ถนน และกิจกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมและโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน การผลิตอิฐก่อสร้าง การคมนาคมและอุปกรณ์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ” รายงานระบุ
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า หลายประเทศในแอฟริกา เช่น ไนเจอร์ แคเมอรูน และไนจีเรีย ก็มีความเสี่ยงจากอากาศพิษเช่นกัน บั่นทอนทำให้อายุขัยลดลงเกือบสองปี
ศ.แฟรงค์ เคลลี อาจารย์ประจำภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยคิงคอลเลจในลอนดอนระบุว่า จนถึงตอนนี้มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในประเทศแถบทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา โดยรายงานเป็นการรวบรวมข้อมูลล่าสุดเรื่องคุณภาพอากาศและรูปแบบผลกระทบด้านสุขภาพสำหรับหลายประเทศทั่วโลก
รายงานระบุว่า หนึ่งในความสำเร็จในช่วงปีที่ผ่านมาคือที่จีน ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังมีปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรง แต่ก็เห็นค่า PM2.5 ที่ลดลงอย่างชัดเจนจากการควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาล
โดยผลการวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งพบว่า ตัวเลข PM2.5 ลดลงเกือบ 1 ใน 3 ใน 74 เมืองของจีน
แต่ถึงแม้จะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่รายงาน SOGA ระบุว่ายังคงมีงานที่ต้องทำอีกมาก เพื่อทำให้ข้อมูลเฉลี่ยของมลพิษทางอากาศในจีนลดลงต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก
โดย อ.เคลลีระบุว่า รายงานยืนยันว่าอินเดียและจีนมีมลพิษทางอากาศสูงจนกลายเป็นสาเหตุมากกว่า 50 % ของการเสียชีวิตของผู้คน 5 ล้านคนทั่วโลก.