สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ก.พ. 66
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ในขณะที่ภาคใต้มีฝนน้อย
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนเล็กน้อยบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา (4 มม.) และ จ.ปราจีนบุรี (1 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 35,813 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 28,698 ล้าน ลบ.ม. (60%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ดังนี้
กอนช. ติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงวันที่ 14–17 ก.พ. 66 เนื่องจากมวลอากาศเย็นกำลังแรงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศไทยมีอากาศร้อน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง
เฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำ โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 19–22 ก.พ. 66 โดยระดับน้ำทะเลหนุนจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 20 ก.พ. 66 ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่บริเวณปากแม่น้ำ ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดย กอนช. เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบริหารจัดการน้ำ และควบคุมค่าความเค็มบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเค็มรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 13 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ปฏิบัติงานขุดเจาะบ่อน้ำตื้นในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ให้สามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภค – บริโภค บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ บ.ทางหลวง ม.8 ต.บ้านแก้ง อ.นาแก จ.นครพนม มีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 13 ครัวเรือน ประชากร 31 คน
1.2 กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและประเมินการใช้น้ำ จากการทำการเกษตรรอบบึงบอระเพ็ดของประชาชนในพื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะทำงานบริหารงาน โครงการระบบส่งน้ำฯ ในการจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศบึงบอระเพ็ด
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อยในระยะนี้
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 35,813 ล้าน ลบ.ม. (62%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 28,698 ล้าน ลบ.ม. (60%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,974 ล้าน ลบ.ม. (78%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,144 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,911 ล้าน ลบ.ม. (60%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 28,510 ล้าน ลบ.ม. (60%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 9,779 ล้าน ลบ.ม. (45%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,038 ล้าน ลบ.ม. (47%)