สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ก.พ. 66
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะนี้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี (11 มม.) จ.พระนครศรีอยุธยา (11 มม.) และ จ.เลย (8 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 35,965 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 28,829 ล้าน ลบ.ม. (60%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมเจ้าท่า ขุดลอกลำน้ำในพื้นที่ในลำน้ำท่ากี่ มีพื้นที่บริเวณขุดลอกประกอบด้วย บ้านดอนเรือ บ้านดอนชัย บ้านดงยาง ตำบลดอนโอง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และบ้านท่าสี บ้านหนองสำราญ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเพิ่มความกว้างของร่องน้ำและพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง
กอนช. ติดตามการดำเนินงานโครงการตามแผนฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วกันดำเนินโครงการฟื้นฟูบึงราชนก ภายใต้แผนหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1.การบริหารจัดการ 2.จัดการน้ำแล้งและอุทกภัย 3.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 4.จัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามแผนหลักด้านที่ 2.จัดการน้ำแล้งและอุทกภัย และด้านที่ 3.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตด้วยการขุดลอกและปรับปรุงคลองสมอแข ปรับปรุงระบบระบายน้ำคลองวงพาด-หนองตาแหวนพร้อมอาคารประกอบปรับปรุงคลอง
ระบายน้ำ D1L – LD7 , LD8 เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติมน้ำเข้าสู่บึง แล้วเสร็จในปี 2563 และก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านดงข่อย แล้วเสร็จในปี 2565 พร้อมดำเนินการขุดลอกพื้นที่บึงเพื่อฟื้นฟูแหล่งเก็บกักน้ำ จำนวน 6 จุด พื้นที่รวม 3,526 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 28.85 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันภาพรวมผลการดำเนินงานแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 25 ของแผนฯ สามารถเก็บกักน้ำได้แล้วประมาณ 8 ล้าน ลบ.ม
ช่วยสนับสนุนเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งบรรเทาอุกภัยในพื้นที่ช่วงฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านก่อ ระบบระบายน้ำบ้านบึงราชนก และการขุดลอกคลองชักน้ำแม่น้ำวังทอง ต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกโรงงานที่มีการระบายน้ำทิ้งจากการประกอบกิจการ ในบริเวณรอบคลองแนวลิขิต จังหวัดสมุทรสาคร ป้องกันลักลอบระบายน้ำทิ้งโดยไม่บำบัด เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแนวลิขิตและเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบโรงงาน
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะนี้
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 35,965 ล้าน ลบ.ม. (62%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 28,829 ล้าน ลบ.ม. (60%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,992 ล้าน ลบ.ม. (79%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,143 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 10,967 ล้าน ลบ.ม. (60%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 28,640 ล้าน ลบ.ม. (60%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 9,640 ล้าน ลบ.ม. (44%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,980 ล้าน ลบ.ม. (46%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ซึ่งเป็น หนึ่งในพื้นที่นำร่องการอบรมการใช้งานแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ซึ่งเป็นแอปที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีม GISTDA ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อใช้ในการติดตามความเสี่ยงและความเสียหายของแปลงเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งเป็นการนำข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง มาวิเคราะห์และแสดงผล เพื่อให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่
โดยร่วมทดสอบและใช้งานแอปพลิเคชันตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้วยข้อมูลจากดาวเทียมในพื้นที่จริง