ส่งออกลาวไปยุโรปพุ่ง
ยอดส่งออกสินค้าของลาวไปสหภาพยุโรปสูงถึง 204.9 ล้านยูโรหรือ 7,786.2 ล้านบาท ในเดือนม.ค.- ต.ค.ปี 2558 เพิ่มสูงขึ้นถึง 16.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557
จากรายงานของสหภาพยุโรป สิ่งทอและเสื้อผ้ายังคงเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำรายได้ให้ลาวสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 63% ของจำนวนสินค้าทั้งหมดที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากลาว
สินค้าที่นำเข้าจากลาวสูงเป็นอันดับ 2 คือกาแฟ คิดเป็น 10.6% ของยอดสินค้านำเข้า โดยเพิ่มขึ้นถึง 33.3% ในขณะที่ยอดส่งออกน้ำตาลของลาวเพิ่มขึ้นคิดเป็น 4.8% ของยอดรวมทั้งหมด
ยอดส่งออกจากลาวไปยังตลาดสหภาพยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้น อาจเชื่อมโยงกับการที่โรงงานหลายแห่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน – เซโน ในจังหวัดสะหวันนะเขตเริ่มที่จะผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้
ในขณะเดียวกัน ยอดส่งออกสินค้าจากสหภาพยุโรปมาที่ลาวลดฮวบลงถึง 36.1% มีมูลค่าอยู่ที่ 88.1 ล้านยูโรหรือ 3,347.8 ล้านบาท โดยยอดที่ลดลงนี้อาจเกิดจากลาวได้พัฒนาและบูรณาการในการผลิตขึ้นมาเป็นผู้ผลิตที่สำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและทั่วโลก
สินค้าสำคัญจากยุโรปที่ลาวนำเข้าลดลง รวมถึงเครื่องจักร อัญมณี โลหะ ผลิตภัณฑ์ยา มอลต์ แป้ง อินซูลิน เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ยุโรปส่งออกไปที่ลาวในสัดส่วนเพียง 6.5% ของทั้งหมด กลับมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นพรวดพราดถึง 107.7 %
โดยภาพรวมแล้ว ทำให้ลาวได้ดุลการค้ากับสหภาพยุโรปสูงถึง 186.4 ล้าน ยูโรหรือ 7,083.2 ล้านบาท ปัจจุบันสหภาพยุโรปอยู่ในอันดับ 4 ของนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุดในลาว รองจากจีน ไทยและเวียดนาม
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลาวมากขึ้นภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน เพื่อผลักดันสภาพแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพเพื่อความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน
เนื่องจากเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ลาวจึงได้ประโยชน์ที่น่าพึงพอใจภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางศุลกากรของสหภาพยุโรป (GSP) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘ทุกอย่างยกเว้นอาวุธ’ โดยนโยบายนี้ให้สิทธิกับประเทศด้อยพัฒนาทั้งหมด 48 ประเทศ รวมทั้งลาวด้วย ให้มีสิทธิในการยกเว้นภาษีส่งออกสินค้าทุกอย่างไปยังสหภาพยุโรป แต่ไม่รวมถึงอาวุธสงครามและกระสุน
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ให้คำมั่นที่จะทำให้มีตลาดการค้าเสรีที่เปิดกว้าง โดยสหภาพยุโรปจะเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญเพื่อการส่งออกของ 130 ประเทศทั่วโลกและมีความตั้งใจที่จะสร้างสภาวะการเจริญเติบโตทางการค้าให้ดีที่สุด
ความร่วมมือจากสหภาพยุโรปช่วยลาวในการพัฒนานโยบายการค้าและขีดความสามารถเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจน ขณะเดียวกันทำให้ลาวมีการบูรณาการทางการค้าและยกระดับเข้าสู่ตลาดโลก.