ฝรั่งเศสจ่อเก็บภาษียักษ์ใหญ่ดิจิทัล 3%
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.รัฐบาลฝรั่งเศสเสนอภาษีที่ตั้งเป้าจัดเก็บกับบริษัทยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตอย่างกูเกิล อเมซอน และเฟซบุ๊ก พร้อมกับมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดกับบริษัทไฮเทคเหล่านี้
บรูโน เลอ แมร์ รมว.กระทรวงการคลังของฝรั่งเศสประเมินว่า มาตรการภาษีนี้จะทำรายได้ให้ฝรั่งเศสประมาณ 500 ล้านยูโร หรือราว 18,275 ล้านบาทต่อปี
การจัดเก็บภาษีดิจิทัลของฝรั่งเศสที่คิดเป็นเศษเสี้ยวรายได้ของบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ ยังถือเป็นการแผ้วถางทางให้มีการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันในยุโรปอีกด้วย ซึ่งรวมถึงมาตรการจัดเก็บภาษีดิจิทัลทั่วอียู
ความพยายามของอียูที่จะผ่านร่างกฎหมายจัดเก็บภาษี 3% กับรายได้ของบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ในปี 61 ล้มเหลว เนื่องจากมีความกังวลจากหลายประเทศ เช่น ไอร์แลนด์และเยอรมนี ซึ่งกลัวการโต้ตอบเช่นเดียวกันจากสหรัฐฯ โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) กำลังดำเนินการตรวจสอบภาษีดิจิทัลทั่วโลก แต่ระบุว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปจนกว่าจะถึงปี 63
โดยรมว.เลอ แมร์ เป็นผู้สนับสนุนภาษีดิจิทัลมานานอย่างชัดเจน โดยโต้แย้งว่าบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งกูเกิล อเมซอน และเฟซบุ๊กได้ผลประโยชน์จากอัตราภาษีที่ต่ำกว่าบริษัทยุโรปอื่นๆ รมว.ฝรั่งเศสรายนี้ระบุว่า ฝรั่งเศสจะถอนกฎหมายภาษีของตัวเองเมื่อ OECD บรรลุข้อตกลง
ทั้งนี้ ประเทศอื่นๆในยุโรป ทั้งสหราชอาณาจักร เยอรมนี และสเปนต่างมีมาตรการภาษีดิจิทัลของตัวเอง
ภาษีของฝรั่งเศสจะมีผลบังคับใช้กับบริษัทที่ทำรายได้ทั่วโลกจากการให้บริการดิจิทัลมูลค่าอย่างน้อย 750 ล้านยูโร หรือราว 27,412 ล้านบาท โดยทำรายได้ในฝรั่งเศสถึง 25 ล้านยูโร
“ เราจ่ายภาษีทุกอย่างตามกำหนดและปฏิบัติตามกฎหมายภาษีในทุกประเทศที่เราดำเนินธุรกิจทั่วโลก กูเกิลจ่ายภาษีส่วนมากเป็นภาษีรายได้นิติบุคคลในสหรัฐฯ และเราจ่ายภาษีทั่วโลกในอัตรา 23% ในช่วง 10 ปีล่าสุด” โฆษกของกูเกิลชี้แจงกับสำนักข่าว CNBC ผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา
ในอีเมลแถลงการณ์ที่ส่งให้ทาง CNBC บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กระบุว่า บริษัทจ่ายภาษีตามกฎหมายในทุกประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจ โดยเสริมว่า บริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมายของฝรั่งเศสและยุโรปต่อไป
“ ในฝรั่งเศส เราสมัครใจปรับโครงสร้างยอดขายและบัญชีสินค้าในปี 61 จากนี้ต่อไป รายได้ทั้งหมดจากผู้ลงโฆษณาโดยทีมของเราในฝรั่งเศสจะถูกบันทึกในฝรั่งเศส เราหวังว่า OECD จะทำงานสำเร็จและสร้างสรรค์ข้อตกลงภาษีทั่วโลกที่มีความชัดเจน และยั่งยืน” โฆษกเฟซบุ๊กระบุ
ขณะที่ทางอเมซอนยังไม่ได้ให้ความเห็นในประเด็นภาษีนี้กับทางสื่อ CNBC