เกาหลีใต้ส่งออกทรุดในรอบเกือบ 3 ปี
ตัวเลขส่งออกของเกาหลีใต้หดตัวลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีในเดือนก.พ. จากดีมานด์ของตลาดจีนที่ชะลอตัว ส่งสัญญาณว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียกำลังสะดุด
โดยยอดส่งออกต่างประเทศลดลง 11.1% เมื่อคิดเป็นอัตราต่อปี ลดฮวบลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2559 เป็นต้นมา และเป็นเดือนที่ 3 ที่ยอดการจัดส่งลดลง โดยทางรอยเตอร์เคยคาดการณ์ว่ายอดส่งออกจะลดลง 10.8% ในเดือนก.พ.
“ ยอดขายไปจีนดิ่งลงโดยเฉพาะราคาเมมโมรีชิปที่ปรับลดลง เมื่อประเมินสถานการณ์ข้างหน้า การเติบโตของการส่งออกยังคงอ่อนแรงในเดือนมี.ค. แต่การส่งออกที่หดตัวลงอาจปรับดีขึ้นในเดือนมี.ค. หรือเม.ย. เพราะเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” พัคซังฮยอน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ HI Investment & Securities ในกรุงโซลระบุ
การส่งออกที่ดิ่งเหวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ขัดขวางซัพพลายเชนของโลก และส่งผลกระทบกับการลงทุนทางธุรกิจและผลกำไรของบริษัท
ขณะที่การนำเข้าหดตัวลง 12.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นตัวเลขที่แย่กว่า 11.6% จากการคาดการณ์ในผลสำรวจ ส่งผลให้มีการเกินดุลการค้าจำนวน 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 98,239 ล้านบาท มากกว่าสองเท่าของมูลค่าในเดือนม.ค. เนื่องจากการนำเข้าลดลงมากที่สุด อ้างอิงจากกรมศุลกากรเกาหลีใต้
แม้การเจรจาทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯดูจะมีความก้าวหน้า แต่ประเทศที่พึ่งพาการส่งออก
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและไต้หวันกำลังได้รับผลกระทบจากแรงกระเพื่อมของสงครามการค้าที่เกิดขึ้นนานหลายเดือนแล้ว
เนื่องจากการส่งออกเริ่มต้นปีนี้พร้อมกับเงินเฟ้อที่ไม่มีสัญญาณว่าจะฟื้นตัวขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ธนาคารของเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.75% ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ การส่งออกไปจีนของเกาหลีใต้ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 30% ของสินค้าเกาหลีใต้โดยรวม เริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และอาจแย่ลงอีกหากเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยการส่งออกไปจีนหดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันในเดือนก.พ.อยู่ที่ 17.4% โดยยอดขายสินค้าสำคัญทั้งปิโตรเคมี เมมโมรีชิป จอภาพและผลิตภัณฑ์เหล็กลดลง อ้างอิงจากแถลงการณ์ของรัฐบาล
โดยรวมแล้ว ยอดส่งออกเมมโมรีชิปของเกาหลีใต้ดิ่งฮวบลงถึง 25% ในเดือนก.พ.ในอัตราต่อปี ขณะที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงถึง 14.3% และจอภาพลดลง 11%