ความยากจนในฟิลิปปินส์ยังสวนทางจีดีพี
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกมองว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนในฟิลิปปินส์ได้
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ในการประชุมทางธุรกิจครั้งที่3 ที่จัดโดยสำนักข่าวมะนิลาไทม์ ที่กรุงมะนิลา นายโรจิเอ แวน เดอ บริงค์ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก ได้กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงมาเหลือ 25.8% ในปี 2557 จากเดิมอยู่ที่ 27.9% ในปี 2555 เขากล่าวว่า
“ความยากจนในฟิลิปปินส์ที่เป็นปัญหาสำคัญมายาวนาน เริ่มจะมองเห็นสัญญาณบวกบ้างแล้ว”
แต่ นายแวน เดอ บริงค์ ยังให้ความเห็นว่า ยังมีช่องโหว่ในเศรษฐกิจปัจจุบันที่ขัดขวางการแก้ปัญหาความยากจน รวมถึงข้อปฏิบัติในแต่ละภูมิภาคที่ผู้คนยึดถือกันอย่างเหนียวแน่น ความขัดแย้งและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล การด้อยการศึกษาและผลผลิตทางเกษตรกรรม เขาเน้นว่า
“การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะลดอัตราความยากจนให้น้อยลงได้”
ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกให้ความเห็นว่า ยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ การเปลี่ยนผ่านทางโครงสร้างของเกษตรกรรม บทบาทของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางในเศรษฐกิจของประเทศ ศักยภาพของอุตสาหกรรมนำเข้า และส่งออกสินค้า และการปฏิรูปนโยบายเรื่องข้าว และภาษี
ในการนำเข้า-ส่งออก เขาชี้ให้เห็นถึงการลงนามในพระราชบัญญัติสาธารณรัฐ 10668 ซึ่งอนุญาตให้สินค้าที่ขนส่งทางเรือจากต่างประเทศ สามารถขนถ่ายสินค้านำเข้าและส่งออกได้ตลอดเส้นทางภายในประเทศ
เขากล่าวว่า “นี่เป็นการช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก และยังช่วยลดความคับคั่งในพื้นที่ท่าเรือของฟิลิปปินส์ด้วย” เขายังให้ความเห็นอีกว่า เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้บริษัทของฟิลิปปินส์สามารถเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทต่างชาติได้และก้าวเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคอาเซียน และตลาดทั่วโลก
ส่วนนโยบายเรื่องข้าว นายแวนเดอ บริงค์ เสนอว่า รัฐบาลควรยกเลิกกฎข้อบังคับในการนำเข้าข้าวในเชิงปริมาณ ภาครัฐควรลงทุนในการวิจัย และพัฒนาในเรื่องการขยายตัวทางเกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐานในชนบท ถนน ชลประทาน ไฟฟ้า และพัฒนาสุขภาพ และการศึกษาของเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกรายงานว่า ตัวเลขความยากจนที่ลดลง เป็นผลมาจากการว่างงานที่ลดลง 5.7% และการทำงานต่ำระดับที่ลดลง 17.6% ในเดือนต.ค.2558 เขาชี้ว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างมั่นคงและกรอบการดำเนินงานในการลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้รัฐบาลตั้งเป้าว่าตัวเลขความยากจนจะลดลงมาอยู่ที่ 18-20% เขาสรุปว่า
“หากแนวโน้มนี้มั่นคงในระยะยาว ปัญหาความยากจนอาจถูกกำจัดให้หมดไปได้ในคนเจเนเรชั่นเดียว ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คงที่ 5-6% ต่อปี จัดว่าเพียงพอ ที่จะส่งผลให้รายได้ประชากรต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าได้ภายใน 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าใน 20 ปี และ 11 เท่าใน 30 ปี”