ห้ามแม่กัมพูชาขายน้ำนมตัวเอง
ที่ผ่านมา แม่ชาวกัมพูชามีการขายน้ำนมจากเต้านมตัวเองให้กับผู้หญิงในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ทางการต้องมีคำสั่งห้ามในปัจจุบัน
หลายกรณีก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า แม่ๆ ชาวกัมพูชาเหล่านี้ถูกหาประโยชน์จากผู้ประกอบการธุรกิจนี้
โดยใน 2 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงหลายสิบคนในกัมพูชากลายเป็นผู้ขายน้ำนมจากเต้านมตัวเองให้กับบริษัทชื่อ แอมโบรเชีย แล็บ
บริษัทแห่งนี้เป็นผู้ดำเนินการเก็บน้ำนมแม่และส่งไปขายในสหรัฐฯ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือบรรดาแม่ๆในสหรัฐฯที่มีปัญหาผลิตน้ำนมไม่เพียงพอที่จะใช้เลี้ยงลูกของตัวเอง
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา กัมพูชาออกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำนมแม่จากเต้าโดยทันที ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจนี้ต้องสิ้นสุดลง
ยังไม่มีความชัดเจนว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าคำสั่งห้ามนี้จะมีขึ้นตามหลังประเด็นอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกัน เช่น การค้าอวัยวะมนุษย์และการอุ้มบุญ
ทั้งนี้ ในหลายประเทศมีการจัดตั้งธนาคารน้ำนม ที่ซึ่งผู้หญิงสามารถบริจาคน้ำนมให้กับทารกที่ต้องการ โดยยังมีการขายนมแม่ผ่านเว็บไซต์และเครือข่ายเอกชน และได้กลายเป็นอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่มถึงแม้จะมีการห้ามในบางประเทศก็ตาม
องค์การยูนิเซฟรายงานว่า ธุรกิจนี้เป็นการหาประโยชน์จากหญิงที่ยากจนเพื่อผลกำไรและจุดประสงค์เพื่อการพาณิชย์ และเสริมว่า นมแม่ไม่ควรถูกนำมาขายเช่นนี้
บริษัทแอมโบรเชียมีร้านในสตึง เมียนเจย ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับกรุงพนมเปญ โดยในบริเวณนี้เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นย่านที่อยู่ของคนยากจน และสามารถเข้าถึงผู้หญิงที่พร้อมจะขายน้ำนมได้ง่าย
มีรายงานว่าแอมโบรเชียจ่ายค่านมแม่ให้กับแม่ๆ ชาวกัมพูชาด้วยราคาเพียง 0.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อน้ำนม 1 ออนซ์ ในขณะที่ส่งขายให้แม่ในสหรัฐฯด้วยราคาที่แพงกว่าที่รับซื้อมาถึง 8 เท่า
นักวิจารณ์กล่าวว่า ธุรกิจรับซื้อนมแม่ทำให้แม่ๆที่ยากจนพากันมาขายน้ำนมจากเต้านมของตัวเองแทนที่จะใช้เลี้ยงลูกของพวกเธอ
อ้างอิงจากรายงานของยูนิเซฟ ทารกส่วนใหญ่ในกัมพูชาถูกเลี้ยงด้วยนมแม่ แต่จำนวนเริ่มลดน้อยลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และเด็กๆส่วนใหญ่ยังคงมีภาวะขาดอาหาร
บรรดาแม่ๆให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การขายนมแม่ช่วยให้พวกเธอมีรายได้ และทำให้เธอสามารถเลี้ยงลูกและดูแลลูกได้ที่บ้าน โดยพวกเธอสามารถทำรายได้ถึง 12 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนมากสำหรับพวกเธอ
“ พวกเราเสียดายมากที่มีการสั่งห้ามการขายนมแม่ มันช่วยชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราได้มาก” แม่คนหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 34.72 บาท / 29 มี.ค.2560