ลาวตั้งหลวงพระบางขึ้นแท่นเขตเศรษฐกิจ
รัฐบาลลาวเปิดไฟเขียวให้กับบริษัทสัญชาติลาวแห่งหนึ่งในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ในจังหวัดหลวงพระบาง นับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษลำดับที่ 13 ของประเทศลาว
การพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาในเขตตัวเมืองของจังหวัดสำคัญนี้ แต่ยังต้องมั่นใจว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมจะได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี
บริษัทพูสีกรุ๊ป คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 42,000 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อพัฒนาพื้นที่ประมาณ 4,850 เฮคตาร์ หรือ 30,312.5 ไร่ (1 เฮคตาร์ = 6.25 ไร่ ) พร้อมสิทธิ์สัมปทานในพื้นที่เป็นเวลานานถึง 99 ปี
เขตเศรษฐกิจนี้จะตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางเมืองหลวงพระบางประมาณ 10 กม. ไปยังอีกด้านของเขตจอมเพ็ด ซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ผู้พัฒนาโครงการจะจัดสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการธุรกิจให้เข้ามาในพื้นที่
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการลงนามในข้อตกลงที่จะก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่นี้ พิธีลงนามได้จัดขึ้นในนครเวียงจันทน์ โดยมีตัวแทนจากทางรัฐบาลคือผู้ว่าราชการจังหวัดหลวงพระบาง รัฐมนตรีช่วย และรองประธานคณะกรรมการแห่งชาติลาวเพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ และประธานบริษัทพูสีกรุ๊ป เป็นผู้ลงนาม
นอกจากนี้ยังมีนายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมาร่วมในงานด้วย โดยนายสมสะหวาด เป็นผู้ดูแล และให้คำปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ และงานราชการอื่นๆ ที่สำคัญ
เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่ง โดยในพื้นที่จะประกอบไปด้วยตึกสูง 23 ชั้น โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร ภัตตาคาร และบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบพื้นที่สำหรับทำสวนผักออร์แกนิกไว้ด้วย ในโครงการจะมีศูนย์ประสานงานเบ็ดเสร็จในที่เดียว เพื่อความโปร่งใส เชื่อถือได้ และอำนวยความสะดวกให้กับการพัฒนาในทุกด้าน
ทั้งนี้รัฐบาลเชื่อว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่นี้ จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัด และสร้างโอกาสงานจำนวนมากให้กับประชาชนในพื้นที่
ปัจจุบันผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ต้องใช้เรือข้ามฟากเพื่อข้ามแม่น้ำโขง ในการเดินทางระหว่าง ตัวเมืองหลวงพระบาง และเขตจอมเพ็ดเพื่อท่องเที่ยว และประกอบธุรกิจ หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกแห่งแรกของลาว และเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน และนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้หลั่งไหลเข้ามาในลาว
ทั้งนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ไม่เพียงเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระจายการพัฒนาไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย