รองนายกฯ ญี่ปุ่นโทษผู้หญิงไม่มีลูก
รองนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากเขากล่าวโทษผู้หญิงที่ไม่มีบุตรว่าทำให้ญี่ปุ่นเกิดปัญหาประชากร
นายทาโร อาโสะ วัย 78 ปี ปฏิเสธว่าผู้สูงอายุไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนประชากรของญี่ปุ่นลดลง และเพิ่มภาระด้านงบประมาณสวัสดิการสังคมในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในจังหวัดฟุกุโอกะ ทางใต้ของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา
“ มีคนแปลกๆมากมายที่พูดว่าต้องโทษผู้สูงอายุ แต่มันผิด ปัญหาคือผู้ที่ไม่ให้กำเนิดบุตร” นายอาโสะ ซึ่งรั้งตำแหน่งรมว.กระทรวงการคลังด้วยกล่าว
หลังจากถูกส.ส.ฝ่ายค้านถล่มในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณ นายอาโสะกล่าวเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ว่า เขาจะถอนคำพูด “ หากก่อให้เกิดความเข้าใจผิด” โดยเขาอธิบายว่า “ มันทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบโดยที่ไม่ได้ส่งสารของความหมายเดิมที่ผมพูด” โดยเขาไม่ได้ทำให้กระจ่างว่าสิ่งที่เขาต้องการพูดคืออะไร
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก โดยมากกว่า 20% ของประชากรมีอายุมากกว่า 65 ปี ญี่ปุ่นมีปัญหาประชากรลดจำนวนลงอย่างมีเสถียรภาพมาตั้งแต่ปี 2513
ในปี 2560 มีจำนวนทารกเกิดใหม่น้อยกว่า 950,000 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 1.3 ล้านคน อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน
กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากกว่า 9 ล้านคน มีอัตราการเกิดของทารกต่ำที่สุดใน 47 จังหวัดของญี่ปุ่น คืออยู่ที่ 1.17 อย่างไรก็ตาม บรรดาแม่ๆที่มีลูกประสบปัญหาในการหาสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อให้พวกเธอสามารถทำอาชีพเดิมต่อไปได้ ไม่ต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก ทำให้กรุงโตเกียวเป็นเมืองที่มีจำนวนเด็กๆ ต่อคิวรอเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนเป็นจำนวนมากที่สุด คือมากกว่า 5,400 คน คิดเป็นเกือบ 30% ของจำนวนทั้งประเทศ
นับตั้งแต่ปี 2533 ญี่ปุ่นเริ่มดำเนินนโยบายเพิ่มอัตราการเกิดของประชากร เช่น เพิ่มสถานบริการรับเลี้ยงเด็ก และปรับปรุงที่อยู่อาศัยและความสะดวกสบายเพื่อครอบครัวและเด็กๆ อย่างไรก็ตาม ประเด็นโครงสร้างทางสังคม ยังคงทำให้ผู้หญิงไม่อยากมีบุตร หากพวกเธอต้องการความก้าวหน้าในอาชีพ
อ้างอิงจากรายงานล่าสุด จำนวนผู้หญิงวัย 30 – 40 ปี ที่กลับไปทำงานหลังมีบุตรเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 70% แต่ผู้ที่กลับไปทำงาน ต้องยอมรับค่าจ้างที่ลดลง หรือตำแหน่งงานที่ไม่ก้าวหน้า อ้างอิงจากรายงานที่ตีพิมพ์ในปี 2560 โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 110 จาก 149 ประเทศในดัชนีช่องว่างทางเพศทั่วโลกของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางเพศ ในคณะรัฐบาล มีผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งระดับรัฐมนตรีเพียง 16% อ้างอิงจากรายงานของ Inter – Parliamentary Union ซึ่งเป็นองค์การของสภาแห่งชาติทั่วโลก.