อินโดนีเซียตั้งเป้าส่งออกเมล็ดกาแฟโต 9%
สมาคมผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟของอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะเพิ่มการส่งออกให้ได้ถึง 9% ไปอยู่ที่ 600,000 ตันในปีนี้ โดยเพิ่มจาก 550,000 ตัน ในปีที่แล้ว เนื่องจากตลาดเครื่องดื่มในปะเทศ และต่างประเทศเติบโตขึ้น
จากข้อมูลของ นายเออร์ฟาน อันวาร์ ประธานสมาคมผู้ส่งออก และอุตสาหกรรมกาแฟของอินโดนีเซียชี้ว่า ตลาดกาแฟใน อินโดนีเซีย และเอเชียยังคงมีอนาคตที่สดใสอยู่
นายอันวาร์ กล่าวว่า “จะต้องมีการปรับปรุงอย่างจริงจัง” โดยเขาให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้เอเชียมีความต้องการกาแฟเพิ่มมากขึ้นนำหน้าภูมิภาคอื่นในโลก
เขาให้ข้อมูลว่า “การบริโภคในยุโรปเพิ่มขึ้นประมาณ 1% เท่านั้น แต่ตลาดในเอเชียโตเพิ่มขึ้นถึง 5-8%”
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการกาแฟโรบัสต้าในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายเดือนข้างหน้านี้ โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ และจะแซงหน้าอุปสงค์ที่หยุดนิ่งของกาแฟอราบิก้าไปได้
นายอันวาร์ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมกาแฟในอินโดนีเซีย รวมถึงการเติบโตของวัฒนธรรมนักดื่มกาแฟ และร้านกาแฟที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในอินโดนีเซีย ล้วนเป็นเหตุผลที่เพิ่มปัจจัยบวกให้กับภาคส่วนนี้
“นักดื่มกาแฟล้วนมองหากาแฟคุณภาพดี ไม่ใช่แค่กาแฟสำเร็จรูปหรือของคุณภาพต่ำ” เขายังกล่าวอีกว่า ตลาดการบริโภคกาแฟในอินโดนีเซีย รวมถึงการนำเข้า คิดเป็น 40% ของการผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้ค่าเงินรูเปียที่อ่อนค่าลงไปเกือบ 10% ต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรอดจากสถานการณ์ราคาโภคภัณฑ์ตกต่ำในปีที่แล้วมาได้ แต่ปริมาณการผลิตก็ลดลงไป 8% จากเดิมอยู่ที่ 600,000 ตันในปี 2557
โดยนายอันวาร์ กล่าวว่า“ปัญหาคือเรื่องสภาพอากาศ เอลนีโญทำให้เราเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง”
ปรากฏการณ์ เอลนีโญ เกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อุ่นขึ้น ส่งผลกระทบให้มีอากาศร้อนรุนแรงในเอเชีย และแอฟริกาตะวันออก แต่จะทำให้มีฝนตกหนัก และน้ำท่วมในอเมริกาใต้
ทั้งนี้อินโดนีเซียคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์ ลานีญา ซึ่งเกิดขึ้นสลับกันกับเอลนีโญจะเริ่มส่งผลกระทบในช่วงกลางปี 2559 นี้
อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีเทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้า และผลผลิตได้ราคาดี แต่การผลิตกาแฟของอินโดนีเซียก็ยังถือว่าได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตจากบราซิล และเวียดนาม
โดยนายอันวาร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก จะได้ผลผลิตประมาณ 700 กิโลกรัมต่อพื้นที่เพาะปลูก 1 เฮคตาร์ (1 เฮคตาร์ = 6 ไร่ 1 งาน) ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในบราซิลจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงถึง 3 ตัน และเกษตรกรในเวียดนามจะได้ผลผลิต ประมาณ 2.3 ตัน
ในปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ถือครองพื้นที่เพาะปลูกกาแฟรายย่อยประมาณ 2 ล้านคนในอินโดนีเซีย โดยเป็นการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามากถึง 80% และที่เหลือเป็นพันธุ์อราบิก้า
นายอันวาร์ สรุปว่า “หวังว่า เกษตรกรจะเอาใจใส่มากขึ้น และปรับปรุงการพัฒนาในการปลูกให้ดีขึ้นกว่านี้”