3 ปี ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล้านบาท ยักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก
ได้เคยรีวิวโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีนไปแล้ว หากไม่พูดถึงอีก 1 โครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังสางปมปัญหาต่างๆ คงไม่ได้
โครงการที่ว่าคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท โครงการเรือธงของนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปัดฝุ่นแผนงานรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – ระยอง พร้อมกับรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ช่วงพญาไท – สนามบินสุวรรณภูมิ พ่วงแผนส่วนต่อขยายดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท ขย้ำรวมแปลงร่างเป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในที่สุด
กว่าจะฝ่าด่านเสนอโครงการ ประมูล เจรจาเอกชนก็แทบเลือดตากระเด็น จนในที่สุดได้ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่มี บจ. เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซีพี) แกนนำกลุ่ม จับมือพันธมิตรประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) จากจีน, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้คว้าโครงการสัมปทาน 50 ปีไปครอง ด้วยการเสนอราคาขอรับการสนับสนุนจากรัฐต่ำสุดที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ 119,425 ล้านบาท และต่อมาบริษัทดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บจ. เอเชีย เอรา วัน’
หลังจากนั้น เข้าสู่การเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งใช้เวลาอีก 6-7 เดือนกว่าจะปิดดีลกันจบ เพราะกลุ่มซีพีก็ไม่ใช่ว่าจะเสนอราคาต่ำสุดแล้วจะดำเนินโครงการได้สะดวกโยธิน เนื่องจากรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงและมีระยะเวลาคืนทุนยาวนาน ในระหว่างทาง จึงมีการเสนอข้อเสนอพิเศษนอกซองประมูลเข้ามา 12 ข้อ อาทิ ให้รัฐรับประกันผลตอบแทนโครงการหากไม่ถึง 6.75%, ให้เจรจาบริษัทเป็นรายแรก เมื่อมีการขยายอายุสัมปทานหลังครบ 50 ปี อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี, ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก, เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชาจนกว่าจะมีผลตอบแทนหรือได้รับส่งมอบพื้นที่ครบ, ขอจ่ายค่าสิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ปีที่ 6 เป็นต้นไป เป็นต้น ซึ่งในท้ายที่สุด ข้อเสนอเหล่านี้ถูกปัดตกไป
….และนำมาสู่การลงนามจรดปากกาในสัญญา เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 ในที่สุด
แต่หลังจากนั้น ก็ยังไม่ใช่ว่าจะก่อสร้างได้เสียทีเดียว เพราะต้องมาเคลียร์พื้นที่แนวเส้นทางให้พ้นอุปสรรคทั้งหมด ไม่ว่าจะเวนคืน, ไล่รื้อผู้บุกรุก และหารือกับหน่วยงานอื่นที่มีระบบสาธารณูปโภคขวางแนวอยู่เพียบ ทั้งท่อส่งน้ำมัน ท่อประปา สายไฟแรงสูง ไปจนถึงเสาโทรเลขก็มี!
เมื่อเคลียร์อุปสรรคด้านการส่งมอบพื้นที่แล้วเสร็จ โครงการก็มาสะดุดอีกรอบ หลังประเทศไทยผจญมหาวิกฤติโควิด-19 ระบาดทั่วประเทศ ทุกโครงการก่อสร้างถูกควบคุมขั้นสุด เพราะแรงงานก่อสร้างตามไซส์งานต่างๆ เป็นอีกกลุ่มคนที่กลายเป็นคลัสเตอร์สำคัญที่รัฐบาลต้องจับตามอง ซึ่งภายหลังสร้างผลกระทบเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนนำมาสู่ปัญหาใหญ่ของโครงการนี้…
โดยกลุ่มซีพีได้เปิดเกมเจรจากับรัฐบาล เพื่อขอเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเสนอไว้ ประเด็น คือ 1. ขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.090 ล้านบาท 10 งวด และ 2. ขอให้รัฐจ่ายค่าอุดหนุนการก่อสร้างตามที่เสนอไว้ 117,000 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น จนนำมาสู่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และบจ.เอเชีย เอราวัณ (ซีพี) เจรจาเพื่อแก้ปัญหาในที่สุด ซึ่งก็ต้องทำ MOU ร่วมกันเพื่อยืดกรอบเวลาจ่ายค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ออกไปก่อน เพราะเงื่อนไขเดิมกำหนดว่า เอกชนจะต้องเอาเงิน 10,671 ล้านบาท มาจ่ายทั้งหมดภายใน 2 ปี นับแต่เซ็นสัญญาคือ วันที่ 24 ต.ค. 2564 โดย MOU ดังกล่าวมีการต่ออายุมาเรื่อยๆ คราวละ 3 เดือน
ต่อมา ข้อเสนอทั้งหมดได้ข้อสรุปจนกลั่นเป็นข้อเสนอที่มีทั้งสิ้น 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.แบ่งจ่ายค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์จำนวน 7 งวด งวดละ 1,067.11 ล้านบาท พร้อมเปิดทางให้แบ่งชำระไปจนกว่าผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หมดไป โดยการที่จะบอกว่า สถานการณ์โควิดในประเทศหมดไปนั้น การเจรจาระหว่างรัฐและเอกชนได้ข้อสรุปให้ยึดเอาวันที่มีประกาศยกเลิกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และพื้นที่ควบคุมโรคทั้งหมด พร้อมกับให้แก้ไขสัญญาสัมปทานให้เป็นไปตามนี้ด้วย
2.กลุ่มซี.พี.ก่อสร้างงานโยธาช่วงทับซ้อนรถไฟความเร็วสูงไทยจีน คือช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง พร้อมปรับแก้หลักเกณฑ์สัญญา เพื่อชดเชยเอกชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซีพีจะรับภาระก่อสร้างงานโยธาเป็นโครงสร้างร่วมกับโครงการถไฟความเร็วสูงไทยจีน โดยจะต้องก่อสร้างงานโครงสร้างที่รองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 250 กม./ชม. แบบมาตรฐานจีนจากแผนเดิมที่จะก่อสร้างโครงสร้างร่วมที่รองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 160 กม./ชม. แบบมาตรฐานยุโรป ประเมินค่าก่อสร้างประมาณ 9,207 ล้านบาท
ซึ่งแลกกับภาครัฐจะต้องจ่ายค่าร่วมลงทุนในโครงการนี้ วงเงิน 118,611 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น จากเดิมตามสัญญาระบุให้เริ่มเบิกจ่ายเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นให้เริ่มจ่ายเมื่อเนื้องานโยธาส่วนใหญ่แล้วเสร็จ โดยให้เริ่มจ่ายในปีที่ 2-8 (2566-2570) และเพิ่มเงินประกันผลงาน 5% ของแต่ละงวดด้วย
และ 3.เพิ่มเหตุผ่อนผันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบสถานะทางการเงิน พร้อมกับให้เพิ่มสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นคู่สัญญากับเอกชนร่วมกับ รฟท.ด้วย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภารกิจการบริหารโครงการ
แม้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายจะสรุปตรงกันแล้ว แต่คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานเป็นประธานได้นำข้อเสนอทั้ง 4 ข้อมาตรวจสอบ จนมาสู่การตั้งคณะทำงานที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน สแกนแต่ละข้อเสนออีกครั้งหนึ่ง
และเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพิ่งมีการประชุมของคณะทำงานชุดปลัดกฤษฎา แต่ผลออกมาหัวหรือก้อย ยังไม่มีใครรู้? เพราะบรรดากรรมการในห้องประชุมยังรูดซิปเงียบ
ถ้าจะบอกว่า โครงการนี้ ยักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก คงไม่ใช่คำกล่าวเกินไปนัก เพราะตั้งแต่ลงนามสัญญากันมาตั้งแต่ปี 2562 จวบจนปัจจุบัน ยังไม่ได้ส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed:NTP) เพื่อตั้งแผงสังกะสี ล้อมรั้วตอกเสาเข็มอะไรได้เสียที จากปัญหาอุปสรรคบรรดามีข้างต้น ซึ่งต้องรอให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ยิ่งโครงการนี้ผูกกับโครงการแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ที่ปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่ และมีผู้ใช้บริการตกวันละ 60,000-67,000 คนต่อวันหลังโควิดคลี่คลายลง แม้ซีพีจะเข้ามาบริหารบ้างแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่ได้จ่ายค่าใช้สิทธิ์หมื่นล้าน การเข้ามาดูแลโครงการเต็มไม้เต็มมือย่อมมีคำถามมา โดยเฉพาะคำถามทางกฎหมายที่ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่การเข้ามาดูแลโครงการสามารถทำได้จริงๆหรือ? แถม บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. ที่บริหารเดินรถก็ย้ายไปดูรถไฟฟ้าสายสีแดงเต็มตัวแล้ว ในระหว่างที่ซีพียังไม่สามารถเข้ามาควบคุมดูแลได้เต็มไม้เต็มมือ คำถามที่ตามมาคือ การควบคุมดูแลใครต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าไม่มี…
สุดท้าย คนรับกรรมก็คือ ผู้โดยสารที่ใช้งานไปทำงานไปเรียนในแต่ละวัน อย่างเราๆท่านๆนี่เอง