ข่าวเด่น ข่าวดัง วันที่ 23-24 ธ.ค.2565
วิทวัส ชัยภาคภูมิ นั่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าคนใหม่ นับเป็นคนที่ 4 ต่อจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย
เรื่องที่ 1,669 วิทวัส ชัยภาคภูมิ ทำงานกับสถาบันพระปกเกล้าในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ ในระหว่างปี 2554 – 2565 ทำงานในตำแหน่งรองเลขาธิการ
เขามีความเชี่ยวชาญ ด้านการบริหารอย่างรอบด้าน มุ่งจะนำสถาบันพระปกเกล้าให้เป็นสถาบันวิชาการชั้นนำ ด้วยวิสัยทัศน์ “สานต่อนโยบาย และพัฒนายุทธศาสตร์สถาบันพระปกเกล้าให้เป็นสถาบันวิชาการชั้นนำ ด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลและสันติวิธี เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งภาคประชาสังคมและเยาวชนให้มีความเป็นพลเมือง เพื่อความยั่งยืนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
จับตาสถาบันพระปกเกล้า ภายใต้การนำของวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการคนใหม่ ว่าจะมีบทบาทอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนแรง
เรื่องที่ 1,670 วันนี้ภาคเอกชนเล่นใหญ่แถลงข่าวผลกระทบเกี่ยวกับค่าไฟต่อต้นทุนภาคการผลิต โดยที่แต่ละอุตสาหกรรมต่างก็ออกมาพูดถึงผลกระทบของตน และข้อเสนอตามที่ตนเองต้องการให้ภาครัฐได้พิจารณา แต่ประเด็นหนึ่งที่ บก.ชวนคุยสงสัยก็คือ หัวรือใหญ่ของแต่ละภาคอุตสาหกรรมทำไมไม่ขึ้นไปพูดเอง ทั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) “เกรียงไกร เธียรนุกุล” และประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “สนั่น อังอุบลกุล” ที่ก็ไปร่วมงานด้วย ทำไมไม่ขึ้นเวทีไปออกตัวนำเสนอด้วยตนเอง ทั้งที่ก็น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า หรือหวั่นเกรงอะไรขอรับเจ้านาย
เอาล่ะในเมื่อไม่อยากรอทั้งที่คณะกรรมการกิจหารพลังงาน หรือกกพ. เองก็บอกชัดเจนแล้วว่า กำลังรอข้อเสนอการปรับตัวเลขหนี้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เพื่อพิจารณาปรับลดค่าไฟของภาคเอกชน วันนี้มีโอกาสได้เจอแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานนโยบายและพลังงาน หรือ สนพ. เลยถามไถ่ถึงเรื่องค่าไฟของภาคเอกชนว่ามีโอกาสปรับลงได้หรือไม่ คำตอบเองก็ค่อนข้างชัดว่าน่าจะปรับลดลงได้ และมีโอกาสที่จะใช้วิธีที่เรียกร้องกันมานานก็คือ จ่ายแบบขั้นบันได ใช้มากก็จ่ายมาก เท่านี้ก็น่าจะสบายใจกันได้บ้างไหมขอรับ
เรื่องที่ 1,671 งานเลี้ยงฉลองปีใหม่ แบบเงียบๆ ตามฉบับกรมศุลกากรของ “ท่านอธิบดีหม่อง-พชร อนันตศิลป์” สนุกสนานเฮฮา ไม่มีสัมภาษณ์ ไม่มีข่าวเก็บ หรือ exclusive แต่อย่างไร แม้จะขึ้นนั่งตำแหน่งอธิบดีนานกว่า 2 ปี แล้วก็ตาม และปีนี้ งบประมาณ2566 “ปลัดพี่ตู่-กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง เกษียณในเดือนก.ย.2566 ยังต้องลุ้นกันต่อไปว่า ใครจะขึ้นนั่งปลัดกระทรวงการคลัง ระหว่าง 3 อธิบดีกรมภาษี ซึ่งประกอบด้วย “อธิบดีบัด-กรมสรรพากร” “อธิบดีเอก-กรมสรรพสามิต” หรือ “อธิบดีหม่อง-กรมศุล” เพราะรอบนี้ ทั้ง 3 คน รู้ดีอยู่แก่ใจว่าใครขึ้นเป็นปลัดก่อน โดยเฉพาะ “อธิบดีบัด” อีก 2 อธิบดีที่เหลือ โอกาสจะขึ้นแท่นเป็นปลัดคลังในช่วง 2-3 ปี สุดท้ายก่อนเกษียณ คงยากน่าดู เพราะเมื่อถึงเวลานั้น เพื่อนที่ไม่น่ากลัวก็น่าจับตาอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะ “อธิบดีอุ๋ย-กุลยา ตันติเตมิท” ที่อาจจะขึ้นเป็นปลัดหญิงคนแรกของกระทรวงการคลังก็เป็นไปได้ เพราะอธิบดีน้องใหม่ ซึ่งขณะนี้ เป็นรองปลัดคลังและผู้ตรวจอยู่หลายคน ต่างก็จองกรมสำคัญๆ กันหมดแล้ว ตำแหน่งอธิบดี 3 กรมภาษี ในงบประมาณหน้าจึงน่าติดตาม ไม่แพ้ตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง
เรื่องที่ 1,672 “พี่ตุ้ย-ธีรัชย์ อัตนวานิช” รองปลัดกระทรวงการคลัง ล่าสุด นั่งในตำแหน่งประธานธนาคารออมสิน แบงก์รัฐที่ใหญ่และมีบทบาทมากที่สุดของกระทรวงการคลัง ประชุมบอร์ดแรกชื่นชม “ผอ.เต๋-วิทัย รัตนากร” ชูนโยบายธนาคารเพื่อพัฒนาสังคม ถือว่า มาถูกทางแล้ว พร้อมประกาศกดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับต่ำ แต่ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับผู้สูงอายุ ประธาน “ตุ้ย” บอกว่า ถูกใจมากครับ!!
โดยนพวัชร์