สสว. คาดการณ์ปี 2566 SME GDP ขยายตัว 4.9%
สสว. สรุปสถานการณ์ SME ปี 2565 เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติ COVID-19 คาดสามารถสร้างมูลค่า SME GDP ขยายตัวอยู่ที่ 6.02 ล้านล้านบาท ผลจากการส่งออก (รอบ 10 เดือน) มีมูลค่าถึง 1.09 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.3 คาดการณ์ปี 2566 GDP SME ขยายตัว 4.9% ปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะปรกติ การลงทุนภาครัฐ/ภาคเอกชน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวภายในงาน SME Symposium หัวข้อ “เปิดลายแทง SME ปีกระต่าย วิกฤติโลก วิกฤติไทย โอกาสใหม่ SME” ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566 ที่จะถึงนี้ แม้สถานการณ์ Covid 19 จะผ่อนคลายลง แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงการเปลี่ยนผ่านซึ่งมีความผันผวนเปรียบเสมือนมรสุมที่กำลังก่อตัว ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นมาต่อเนื่องและเริ่มคงตัวในระดับสูง ส่งผลต่อราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง การแข่งขันทางการค้าทวีความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการกีดกันโดยตรงและผ่านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ระบบการเงินที่มีความผันผวนของค่าเงินทั่วโลก และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2566 โดย IMF ก็ปรับลดการประมาณการณ์ลงต่ำกว่าปี 2565 จากร้อยละ 3.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 รวมถึงกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของ SME ไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อาเซียน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีนซึ่งเป็นตลาดหลักทั้งด้านการค้าและนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนไทยก็ยังต้องเฝ้าจับตานโยบายที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้การส่งออกของไทยในช่วงปี 2565 จะเติบโต แต่ครึ่งปีหลังมีทิศทางชะลอตัวและหดตัวซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเหล่านั้น ดังนั้นผู้ประกอบต้องป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง บริหารต้นทุนการเงิน เตรียมรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ SME ต้องให้ความสนใจ และ ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ที่สำคัญต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่อาเซียนเพิ่มขึ้น การพัฒนาทางเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพธุรกิจ การพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการและแรงงานให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจในอนาคต การใช้เทคโนโลยี/พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว ซึ่งหากผู้ประกอบการปรับตัวได้ก่อน ย่อมจะมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า SME ในระบบฐานข้อมูลของ สสว. มีจำนวน 3.178 ล้านราย คิดเป็น 99.57% ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งหมด เกิดการจ้างงานกว่า 12.6 ล้านคน คิดเป็น 71.86% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และจากการศึกษาวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ SME ในรอบปี 2565 ข้อมูล 9 เดือนแรกของปี (เดือนม.ค.-ก.ย.) พบว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (GDP SME) มีมูลค่ารวม 4.54 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 5.1% คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 35.2% ของ GDP รวมของประเทศ
ในด้านการค้าระหว่างประเทศของ SME ยังคงอยู่ในภาวะขาดดุล โดยการส่งออกของ SME มีมูลค่ารวม 31,869 ล้าน USD (1.09 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 20.3% สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารและเกษตรแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตร เป็นต้น ประเทศคู่ค้าหลักของ SME ไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ฯลฯ ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 33,312.7 ล้าน USD (1.15 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 14.2% สินค้านำเข้าสำคัญส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบด้านราคาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ส่วนการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในรอบ 10 เดือน (ม.ค.- ต.ค.) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า SME มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่จำนวน 66,707 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.9% กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ฯลฯ ส่วนการยกเลิกกิจการ มีจำนวน 13,412 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.1% กิจการที่ยกเลิกสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ฯลฯ
“จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. พบว่า ภาวะเศรษฐกิจของ SME ในปี 2565 ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น เห็นได้ จากการขยายตัวของยอดการผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่น รถยนต์นั่ง พาหนะเพื่อการพาณิชย์ ซีเมนต์ผสม ฯลฯ คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2565 เศรษฐกิจของ SME (GDP SME) จะขยายตัว 4.9% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.2% ผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ราคาพืชผลการเกษตร การส่งออก ต้นทุนด้านพลังงาน รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับคาดการณ์แนวโน้มปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศ (GDP) จะมีการขยายตัวได้ 2.8% ถึง 4.8% ขณะที่การขยายตัวของ SME (GDP SME) จะอยู่ที่ 4.1% ถึง 5.8% ผลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ขยายตัวดีขึ้นเกือบทุกด้าน โดยการบริโภคภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.2% เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายตัวของการจ้างงาน แม้ว่าสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลปรับตัวลดลงเล็กน้อยเท่ากับ 0.6% ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.7% เช่นเดียวกับการเติบโตของการลงทุนของรัฐบาล ที่จะเพิ่มขึ้นในอัตรา 2.5% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าและบริการจะยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะด้านบริการการท่องเที่ยวของประเทศจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงคาดว่าการมูลค่าส่งออกสินค้าและบริการโดยรวม จะเพิ่มขึ้น 5.0%